X

ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช  5 พระองค์ สายพันธุ์ตามประวัติศาสตร์ ราคา 20 ล้าน

ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช สายพันธุ์เหลืองหางขาว หรือไก่ 5 พระองค์ ซึ่งเป็นไก่ชนสายพันธุ์ตามประวัติศาสตร์ ที่พระนเรศวรมหาราช เคยนำไปชนไก่ เคยมีคนมาติดต่อขอซื้อในราคา 20 ล้านบาท แต่เจ้าของไม่ขาย เนื่องจากเจ้าของตั้งใจจะเลี้ยงไว้เป็นพ่อพันธ์ุ เพื่อขยายสายพันธุ์ไว้อนุรักษ์ไก่พื้นเมือง เพราะเป็นไก่สายพันธุ์หายาก 

ที่ศูนย์อนุรักษ์ไก่พื้นเมือง  ตั้งอยู่หมู่ 12 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเปิดเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นเมือง สายพันธุ์เหลืองหางขาว หรือไก่ 5 พระองค์ ซึ่งเป็นไก่ที่มีชื่อเสียงและราคาแพงสูงสุดในประเทศไทย     เจ้าหงส์ทอง ไก่ชนสายพันธุ์เหลืองหางขาว น้ำหนัก  4.8 กิโลกรัม อายุ 23 เดือน เจ้าไก่ตัวนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก นางบุศย์ริน  เฉยบรรดิษฐกุล  หรือ คุณแอม เปิดเผยว่า เจ้าหงส์ทองตัวนี้เป็นไก่ ตัวเดียวในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องของกรมปศุสัตว์และยังเป็นไก่ตัวเดียวที่สมบูรณ์แบบครบทุกด้านของสายพันธุ์เหลืองหางขาว  ซึ่งหางของเจ้าหงส์ทองเคยยาวสูงสุดวัดได้ถึง 1 เมตร ซึ่งเคยส่งประกวดในระดับเอเชียมาแล้วและคว้ารางวัลชนะเลิศ จนมีชาวมาเลเซียมาติดต่อขอซื้อไปประดับบารมีในราคาตอนแรก ในราคาที่ 2.5 ล้านบาท แต่ตนเองไม่ขาย จนกระทั่งองค์มนตรีของประเทศมาเลเซียทราบเรื่องและสนใจ ได้ติดต่อขอซื้อในราคาล่าสุด ที่ 20 ล้านบาท  ซึ่งตนก็ได้ปฏิเสธกลับไป เพราะไม่ได้ตั้งใจจะขาย ซึ่งตั้งใจจะเลี้ยงไว้เป็นพ่อพันธุ์ เพื่อขยายสายพันธุ์ไว้อนุรักษ์ไก่พื้นเมือง เพราะเป็นไก่สายพันธุ์หายาก  นอกจากสายพันธุ์เหลืองหางขาวแล้วยังมีสายพันธุ์ ก๋อย ตราด ญี่ปุ่น อีกด้วย

สำหรับไก่ชนสายพันธุ์ เหลืองหางขาวนี้ เป็นไก่ชนพระนเรศวรมหาราช เป็นไก่ชนตามประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า พระองค์ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชา เป็นไก่ชนที่มีลักษณะพิเศษมีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้  ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช จึงชนชนะ จนได้รับสมญานามว่า  เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง  ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้ศึกษาค้นคว้า และทำการส่งเสริมเผยแพร่ โดยจัดประกวดครั้งแรกขึ้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2533 และในปี 2534 ได้จัดตั้ง ชมรมอนุรักษ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นที่ ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จนถึงปี 2542 ได้จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นทุกอำเภอ รวม 12 กลุ่มเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ให้คงอยู่ เป็นสมบัติคู่ชาติตลอดไป

ไก่ชนสายพันธุ์ เหลืองหางขาวนี้ จะมีลักษณะเด่นๆ พอที่จะสังเกตได้ดังนี้ สี ออกเหมือนดอกโสน ขาวอมแดง ขาวอมเหลือง ปากใหญ่สีขาวอมเหลืองหรือสีงาช้าง ปากยาวอวบใหญ่คล้ายกับปากนกแก้ว มีร่องน้ำเห็นได้อย่างชัดเจน ตรงกลางนูนเป็นสันราง ตา ตาขาวจะมีเส้นสีแดง ๆ เรียกว่าตาเพชร ตาเป็นลักษณะตาเหยี่ยว หัวตาแหลม ตาดำคว่ำ เล็กหรี่ รอบตาดำสีขาวอมเหลือง หาง ขนหางกระรวยมีสีขาว พุ่งออกยาวมองเห็นได้เด่นชัด ถ้ายิ่งขาวและยาวมาก ๆ จะดีมาก ขนหางควรพุ่งตรงและยาว ปลายหางโค้งตกลงเพียงเล็กน้อย ขาแข้งและเดือย มีสีขาวอมเหลือง เป็นสีเดียวกับปาก เกล็ดมีลักษณะแข็งและหนาแน่นเรียบ เดือยใหญ่แข็งแรง นิ้วยาว เล็บสีขาวอมเหลืองทุกเล็บ ไม่มีสีอื่นปน ด้านบนของหงอนจะบาง เรียบ ปลายหงอนยาวเลยตา โคนหงอนที่ติดกับหนังศีรษะหนาแน่น อาจมีลักษณะเป็นหงอนแจ้ หงอนหิน หงอนบายศรีตุ้มหู จะมีสีแดงสีเดียวกับหงอน ไม่มีสีขาวเลย ตุ้มหูมีขนาดเล็ก รัดรับกับใบหน้า ไม่หย่อนยาน เหนียง เล็ก รัดติดกับคาง ไม่ยานหรือไม่มีเหนียง รูปหน้า เล็ก แหลม ยาว มีเนื้อแน่น ผิวหน้าเรียบเป็นมัน กะโหลกศีรษะหนาและยาว อกจะแน่นกลม มีเนื้อเต็ม กระดูกอกหนา ยาว และตรง   หลัง เป็นแผ่นกว้าง มีกล้ามเนื้อมาก มองดูแล้วเรียบตรง ไม่โค้งนูน  ไหล่ ตั้ง ยกตรง มีความกว้างพอสมควร คอ ยาว ใหญ่ กระดูกข้อถี่   ปั้นขา จะใหญ่แข็งแรง มีเนื้อมาก กล้ามเนื้อแน่น สร้อยคอ เหลือง หรือเหลืองแกมส้ม สร้อยคอยาวต่อกับสร้อยหลัง เป็นสีเดียวกับสร้อยคอ ควรเรียงกันเต็มแผ่นหลัง เริ่มตั้งแต่โคนคอจนถึงโคนหาง เส้นขนละเอียดยาวเป็นระย้า  สร้อยปีก สีเดียวกับสร้อยคอ เรียงกันแน่นเต็มบริเวณหัวปีกจนถึงปีกชัย มองดูเป็นแผ่น หากท่านใดสนใจที่จะศึกษาติดต่อสอบถามมาได้ที่เบอร์  062 – 8975168

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน