X

แถลงจัดกิจกรรมประเพณีรับบัวบางพลี ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก

นายกลม  เชียงวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายธวัชชัย นามสมุทร นายอำเภอบางพลี  ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกัน แถลงข่าวจัดกิจกรรมประเพณีรับบัวบางพลี ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก โดยมีกำหนดจัดงานประเพณีรับบัวขึ้นในระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2561 ที่บริเวณหน้าวัดบางพลีใหญ่ใน พระอารามหลวง และลานวัฒนธรรมหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในวันที่ 23 ตุลาคม 2561 จะเป็นวันเปิดงานกิจกรรมโยนบัว นมัสการองค์หลวงพ่อโตจำลองทางน้ำ

เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 11 ตุลาคม 2561 ที่ลานเอนกประสงค์ห้างเมกา บางนา ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ นายกลม  เชียงวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายธวัชชัย นามสมุทร นายอำเภอบางพลี  ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานประเพณีรับบัว ประจำปี 2561 ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ซึ่งทางอำเภอบางพลีและจังหวัดสมุทรปราการ ได้ร่วมกันจัดขึ้นทุกปีในช่วงวันออกพรรษาโดยในปีนี้ กำหนดจัดงานประเพณีรับบัวขึ้นในระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2561 ที่บริเวณหน้าวัดบางพลีใหญ่ใน พระอารามหลวง และลานวัฒนธรรมหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในวันที่ 23 ตุลาคม 2561 จะเป็นวันเปิดงานกิจกรรมโยนบัว นมัสการองค์หลวงพ่อโตจำลองทางน้ำ  และ มีการประกวดขบวนเรือสวยงาม  เรือความคิดสร้างสรรค์ และเรือตลกขบขัน การแข่งขันชกมวยทะเล และการแข่งขันกินข้าวต้มมัด รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ที่บริเวณลานวัฒนธรรมอำเภอบางพลี

นายกมล  เชียงวงศ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดกันมาแต่โบราณของชาวอำเภอบางพลี ในอดีต มีชาวบ้าน ที่เป็นชาวไทย ชาวลาว และชาวรามัญ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ ประกอบอาชีพแตกต่างกันไป และได้ช่วยกันพัฒนา พื้นที่รกร้าง ลำคลองอซึ่งเต็มไปด้วย ต้นอ้อ กอแขม และ วัชพืชต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม ส่วนทางทิศใต้นั้นมีป่าล้อมรอบ น้ำมีสภาพเป็นน้ำเค็ม และทางทิศเหนือมีบึงใหญ่ที่มีบัวงอกงามอย่างหนาแน่นทั่วทั้งบริเวณ

ดังนั้นชาวไทย ชาวลาวและชาวรามัญ จึงได้ร่วมกันพัฒนาผืนดินแห่งนี้เรื่อยมา จนมาบรรจบกันที่ทางสามแยก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ประกอบด้วย ปากน้ำลำคลอง 3 สาย ได้แก่ คลองสลุด คลองชวดลากข้าว และคลอดลาดกระบัง ต่อมา ชาวรามัญที่แยกไปประกอบอาชีพ ณ คลองลาดกระบัง เริ่มมีรายได้และผลผลิตตกต่ำ จึงอพยพกลับสู่ถิ่นฐานเดิม คือฝั่งบ้านปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีกำหนดการเดินทางในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 พร้อมกับเก็บดอกบัวหลวงบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมบูชา พระคาถาพัน และได้บอกกับชาวไทยที่สนิทสนมว่า เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ในปีต่อๆไป ขอให้คนไทยช่วยกันเก็บดอกบัวหลวงไปไว้ ณ วัด หลวงพ่อโต หรือวัดบางพลีใหญ่ใน  สำหรับมอบให้ชาวรามัญ เพื่อนำไปเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษา และด้วยน้ำใจที่คนไทยมีต่อชาวรามัญ จึงมีความยินดีที่จะทำตามที่ชาวรามัญได้ขอเอาไว้ หลังจากชาวรามัญได้พากันกราบนมัสการหลวงพ่อโต และอัญเชิญน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ติดตัวไปด้วย แล้วจึงลากลับบ้านปากลัด เพื่อนำดอกบัวไปบูชาพระพันคาถา ที่ปากลัด

ในปีต่อ ๆมา เมื่อครบกำหนดขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ชาวบางพลีก็จะเก็บดอกบัวมาไว้ที่วัดหลวงพ่อโต หรือวัดบางพลีใหญ่ใน ตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับชาวรามัญ ซึ่งชาวรามัญจะเดินทางมารับดอกบัวเหล่านั้นในเวลา 03.00 – 05.00 น. และมีการจัดเตรียมขนมคาวหวานนานาชนิดไว้ต้อนรับ เมื่อชาวรามัญอิ่มหนำสำราญแล้ว จะนำดอกบัวเข้าไปนมัสการหลวงพ่อโตในวิหาร และอัญเชิญน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์กลับไปด้วย เพื่อเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งนำดอกบัวกลับไปบูชาพระคาถาพัน ซึ่งได้ทำสืบทอดกันมาจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 จะมีการอัญเชิญหลวงพ่อโตจำลอง ลงเรือแห่ไปตามลำคลองสำโรง เพื่อให้ชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ริมสองฝั่งคลอง ได้ร่วมสักการบูชา โดยการโยนดอกบัวลงไปในเรือที่องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ มีความเชื่อกันว่า หากสามารถโยนดอกบัวลงไปในเรือที่องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่แล้ว อธิษฐานสิ่งใดไว้ก็จะประสบความสำเร็จดังหวัง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน