X
ขับรถ

ส่อง “พฤติกรรมการขับรถในเมืองกรุงฯ” ขับรถยอดแย่-ไร้วินัยจราจร

ขับรถ – ทีมข่าว 77 ข่าวเด็ด ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร เปิดเผยถึงพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ ที่พบปัญหาการฝ่าฝืนกฎจราจร หลังมีการติดตั้งกล้องเลนเชนจ์ เพื่อเอาผิดรถยนต์ที่ขับขี่ผิดกฎหมาย 

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองบังคับการตำรวจจราจร หรือ บก.จร. ได้มีการติดตั้งกล้องเลนเชนจ์ เพื่อเอาผิดรถยนต์ที่ขับขี่ผิดกฎหมาย ตามโครงการ “ติดตั้งระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องทางเดินรถในเขตห้าม” ซึ่งมีการติดตั้งกล้องเลนเชนจ์ทั้วทั้ง 15 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย

1. สะพานแยกบางเขน ถ.งามวงศ์วาน (ขาออก)
2. สะพานข้ามแยกศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ (ขาออก)
3. ทางลอดแยกห้วยขวาง ถ.รัชดาภิเษก (ขาเข้า)
4. สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี ถ.บรมราชชนนี (ขาออก)
5. สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน ถ.แจ้งวัฒนะ (ขาเข้า)
6. สะพานข้ามแยกราชเทวี ถ.เพชรบุรี (ขาออก)
7. แยกสามเหลี่ยมดินแดง ถ.ดินแดง (ขาเข้า)
8. สะพานข้ามแยกประชานุกูล ถ.รัชดาภิเษก (ขาออก)
9. สะพานศิริราช ด้าน ถ.อรุณอัมรินทร์ (ขาออก)
10. แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถ.ลาดพร้าว (ขาออก)
11. แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถ.ลาดพร้าว (ขาเข้า)
12. สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง ถ.รัชดาภิเษก (ขาออก)
13. สะพานข้ามแยกพระราม 4 ถ.รัชดาภิเษก (ขาออก)
14. สะพานพระพุทธยอดฟ้า ถ.ประชาธิปก (ขาเข้า)
15. สะพานข้ามแยกกำนันแม้น ถ.กัลปพฤกษ์ (ขาออก)

โดยผู้ใช้รถใช้ถนนที่ฝ่านฝืนกฎจราจร กล้องเลนเชนจ์จะทำการบันทึกภาพการกระทำผิด ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่ บันทึกภาพก่อนกระทำความผิด ภาพชณะกระทำผิด และภาพหลังกระทำผิด พร้อมภาพที่แสดงหมาลเลขป้ายทะเบียนของรถที่ฝ่าฝืนกฎจราจร จากนั้น จะนำหมายเลขทะเบียนที่ฝ่าฝืนกฎจราจร ตรวจสอบไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อออกใบสั่งและดำเนินการส่งไปยังเจ้าของรถที่ฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งภายหลังมีการเริ่มใช้งานกล้องเลนเชนจ์แล้ว ก็ยังพบรถยนต์ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรอยู่เหมือนเดิม

จากปัญหาดังกล่าว ทีมข่าว 77 ข่าวเด็ด ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.กิตติ อริยานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร ได้เปิดเผยถึงประเด็นของการติดตั้งกล้องเลนเชนจ์ รวมถึงพฤติกรรมการการใช้รถใช้ถนน และการฝ่าฝืนกฎจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ

กิตติ อริยานนท์

ตั้งแต่วันแรกของการประกาศใช้งานกล้องเลนเชนจ์ มีผู้กระทำผิดตอนนี้กี่คนแล้ว
“เราได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ในการตรวจจับรถฝ่าฝืนในเขตห้าม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเส้นทึบ ตรวจระบบกล้องอัตโนมัติของเรา เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 โดยพบว่า มีผู้ฝ่าฝืนจำนวน 25,714 ราย โดยวันที่ 2 ของการเริ่มใช้งานกล้องกล้องเลนเชนจ์ พบว่า มีผู้ฝ่าฝืนลดลงเหลือเพียง 24,113 ราย ลดลงไปกว่า 3,401 ราย เป็นร้อยละ 12.36 ก็แสดงว่าประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเริ่มมีความตระหนัก เรื่องของวินัยจราจรมากขึ้น จากสถิติดังกล่าวพบว่า พบรถจักรยานยนต์มีการฝ่าฝืนมากกว่ารถยนต์ ช่วงเวลาในการกระทำผิด พบว่า มีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรในช่วงกลางวันมากกว่าช่วงกลางคืน”

หลังจากมีการประกาศใช้งานกล้องเลนส์เชน มีผู้กระทำผิดเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
“แนวโน้มลดลง และจากการตรวจสอบการจราจรพบว่าการเลื่อนไหลดีขึ้น การจราจรคล่องตัวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อว่าถ้าลดลงอีกในระดับหนึ่งจนถึงขั้นน่าพอใจ การจราจรจะคล่องตัวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้”

สาเหตุหรือพฤติกรรมของคนกรุงฯ ลักษณะใดบ้างที่ทำผิดกฎจราจร
“การกระทำผิดกฎจราจรของกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ มีรถกว่า 7 ล้านคัน มีผู้ฝ่าฝืนไม่มาก แต่ที่พบเห็นเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจอดกีดขวาง การจอดซ้อนคัน การจอดในเวลาห้าม รวมถึงรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย การขับรถย้อนศร การขับรถบนทางเท้า จริงๆ ก็เป็นปริมาณที่ไม่มาก แต่กลุ่มคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่สร้างความเดือดร้อนให้กลับกลุ่มคนส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ที่ปฏิบัติตามกฎจราจรอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังพบในเรื่องของการขับรถ การเบียด การปาด ที่อยู่บริเวณคอสะพานหรือบริเวณอุโมงค์ ก็สร้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ ปัญหาจราจร บางครั้งอาจจะพบเรื่องของการทะเลาะวิวาทบนท้องถนนกัน ทาง บก.จร. จึงคิดโครงการดังกล่าว โดยใช้ระบบการตรวจจับอัตโนมัติ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทำตามกฎจราจร”

ขับรถ ขับรถ ขับรถ

ในอนาคตจะมีแนวโน้มการติดตั้งกล้องเลนส์เชนจ์เพิ่มอีกไหม
“จากการประเมินแล้วถ้าหากพบว่าเป็นผลดีทำให้การจราจรเลื่อนไหลอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงลดการเกิดอุบัติเหตุเราก็จะขยายไปสู่จุดอื่นๆ ให้ครอบคลุมกรุงเทพต่อไป”

จะมีการติดตั้งกล้องเลนส์เชนจ์ในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มหรือไม่
“ในจังหวัดใหญ่ๆ ก็มีเรื่องการตรวจจับในลักษณะนี้อยู่ อย่างเช่นที่ จ.เชียงใหม่ จ.ภูเก็ต ซึ่งในพื้นที่จังหวัดดังกล่าวพบปัญหาน้อยกว่าในกรุงเทพฯ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ง่ายกว่าในพื้นที่ของกรุงเทพฯ”

สำหรับกระบวนการตรวจจับผู้กระทำผิดของกล้องเลนเชนจ์ มีกระบวนการอย่างไรบ้าง
“ระบบของเราเป็นระบบอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพสูง การทำงานใช้ระบบตรวจจับโดยกล้องเลนเชนจ์ ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด 6 ขั้นตอน อธิบายได้ดังนี้ การตรวจจับด้วยกล้อง ในแต่ละจุดจะใช้กล้องทั้งหมด 4 ตัว เป็นกล้องที่บันทึกภาพ มีความละเอียดสูง ความคมชัดสูง สามารถภาพได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สามารถตรวจจับได้ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ฝนตก หมอกปกคลุม ฯลฯ ก็สามารถบันทึกภาพอยากเห็นได้ชัด เมื่อพบการกระทำผิดแล้ว ระบบจะดำเนินการส่งข้อมูลไปยังระบบส่วนหน้า หรือระบบ analytic ที่ควบคุมสั่งการอยู่ที่ส่วนหน้า ให้บันทึกภาพดังกล่าวและส่งข้อมูลภาพไปที่ศูนย์ควบคุมการจราจรแห่งนี้ ซึ่งเป็นระบบบันทึกข้อมูลโดยอัตโนมัติ ระบบดังกล่าวจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนรถที่กระทำความผิดไปยังกรมการขนส่งทางบก ผ่านระบบ Data Base ระบบฐานข้อมูลกลางผ่านศูนย์เทคโนโลยีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเชื่อมต่อไปยังสำนักงานขนส่งทางบก จากนั้นผลการตรวจสอบจากปรากฏกลับมาโดยใช้ระยะเวลาสั้นมากเพราะเราเป็นระบบตรวจสอบแบบอัตโนมัติ ผลการตรวจสอบถ้าตรงกัน 4 อย่าง คือทะเบียนรถยี่ห้อรุ่นสีรถ หากทั้งหมด 4 อย่างตรงกันเราจะดำเนินการออกใบสั่งเป็นขั้นตอนต่อไปด้วยใบสั่งจะส่งไปยังธนาคารกรุงไทยผ่านระบบ PTM (Police Ticket Management) เมื่อระบบดังกล่าวส่งกลับมาภายใน 1 วัน จากนั้นตำรวจจะตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง งั้นเราจะส่งใบสั่งไปยังที่อยู่ของผู้กระทำผิดภายใน 7 วัน โดยในใบสั่งจะมีค่าปรับมูลค่าไม่เกิน 500 บาท พร้อมกับระยะเวลาในการชำระค่าปรับ”

ปัญหาโดนใบสั่งหลายๆ ฉบับ ผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องเสียค่าปรับตามปกติตามจำนวนใบสั่ง หรือสามารถลดหย่อนค่าปรับได้หรือไม่ อย่างไร
“ขอแจ้งว่า ใบสั่ง 1 ใบ ต่อ 1 เหตุการณ์ ฉะนั้นผู้ที่มีใบสั่งหลายๆ ใบ จะไม่สามารถลดหย่อนหรือรวมกันได้ สรุปคือ หากโดนใบสั่ง 5 ใบ ก็ต้องชำระค่าปรับใบละ 500 บาท รวมแล้วมูลค่า 2,500 บาท ซึ่งถ้าสามารถชำระได้ทีเดียว ก็สามารถไปชำระค่าปรับได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา ทั่วประเทศ”

สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพมหานคร
“ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะร่วมกันทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งความมีวินัยในเรื่องของจราจร ถ้าเราทำด้วยกัน สร้างกระแสเดียวกัน ปลูกฝังเหมือนกัน หากทุกคนปฏิบัติตามกฎจราจร ซึ่งเป็นกฎแห่งความปลอดภัย การจราจรในกรุงเทพฯ จะคล่องตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน”

ขับรถขับรถ ขับรถ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน