X
กัญชา_โสภณ-เมฆธน

ตั้งคณะกรรมการพิจารณาใช้’กัญชา’ทางการแพทย์

กัญชา – รมว.กระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยให้ นพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธานฯ เตรียมหารือในกรอบ 5 ขั้น ในการประชุมครั้งแรก 10 พ.ค.นี้

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 530/2561 วันที่ 2 พ.ค. 61 เรื่อง โดยระบุว่า มีข้อมูลการนำกัญชาซึ่งปัจจุบันจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างอย่างหลากหลายในต่างประเทศ ขณะเดียวกันตอนนี้ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อการรักษาโรคหรือเพื่อการศึกษาวิจัยได้

ดังนั้นเพื่อรองรับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยในประเทศอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพเป็นไปตามหลักวิชาการและกฎหมาย ป้องกันมิให้มีการรั่วไหลไปใช้ในทางที่ผิด จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ 2534 ที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาฯประกอบด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธานฯ และมีคณะกรรมการประกอบด้วย (1.) ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (2.) ผอ.องค์การเภสัชกรรม (3.) ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (4.) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (5.) อธิบดีกรมการแพทย์ (6.) อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (7.) อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (8.) อธิบดีกรมสุขภาพจิต (9.) เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (10.) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (11.) ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (12.) คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต (13.) ผศ.วรัญญู พูลเจริญ (14.) ผศ.วิเชียร กีรติณิชกานต์ (15.) นางสริตา ปิ่นมณี (16.) นายอนันต์ชัย อัศวเมฆิน (17.) รองเลขาธิการ ที่เลขาธิการ อย. มอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ (18.) ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และ (19.) ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา อภ.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(1.) เสนอแนะนโยบายและแผนการพัฒนา การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยภายในประเทศต่อกระทรวงสาธารณสุข

(2.) พัฒนาและวางระบบการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ให้ครบวงจรตั้งแต่การปลูก การปรับปรุงสายพันธุ์ การผลิตสาระสำคัญที่ได้จากกัญชา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำไปใช้ประโยชน์รวมถึงการวางระบบการควบคุม

(3.) พัฒนาและวางระบบการศึกษาวิจัยเพื่อนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ในประเทศพร้อมทั้งเสนอความเห็นและคำแนะนำที่เกี่ยวข้อง

(4.) ติดตามดูแลประสานสนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนการพัฒนา

(5.) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาหรือดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และ

(6.) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่รมว.สาธารณสุขมอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน เปิดเผยภายหลังการเเต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ว่า ได้นัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยจะหารือในกรอบ 5 ขั้น เริ่มจาก (1.) ศึกษาสายพันธุ์ในการนำมาใช้สกัดสารเพื่อใช้ทางการแพทย์ โดยอาจเป็นสายพันธุ์ไทย หรือสายพันธุ์ที่พัฒนาจากไทยขึ้นมาอีกหรือไม่ (2.) ต้องหาวิธีว่าจะสกัดสารอย่างไรให้ได้คุณภาพ (3.) จัดหารูปแบบการผลิตออกเป็นผลิตภัณฑ์ว่าจะเป็นรูปแบบใด (4.) ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แบบใดบ้าง เบื้องต้นเป็นความหวังรักษาอาการทางสมอง เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน รวมทั้งบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง และ (5.) แนวทางการควบคุมมาตรการทางกฎหมาย

กัญชา กัญชา

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน