X
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

สั่งสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ คุมเข้มผลิตภัณฑ์สุขภาพ-โฆษณาเกินจริง

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข วีดีโอทางไกลหาลือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หาแนวทางเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ ก่อนออกใบอนุญาต และสุ่มตรวจในท้องตลาด คุ้มครองความปลอดภัยประชาชน 

ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประชุมวิดีโอทางไกล หาลือแนวทางการดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขทั่วประเทศ

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า “วันนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง เพิ่มการตรวจสอบแหล่งผลิต และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เฝ้าระวังการใส่สารอันตรายที่ห้ามใช้ โดย 1.เข้มงวดการพิจารณาอนุญาต (Pre-marketing) ให้กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ตรวจสอบสถานที่ผลิตให้ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน”

“หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2561 หากพบการกระทำฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนใบรับแจ้ง และมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท 2.ตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ (Post-marketing) โดยสุ่มตรวจเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาตามที่กฎหมายกำหนด และสร้างเครือข่ายในการดำเนินงาน อาทิ ตำรวจ กสทช. เครือข่ายภาคประชาชน เป็นต้น”

นายแพทย์วันชัย เผยว่า “ในการขออนุญาตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Pre-marketing)  ได้ยกเลิกระบบการพิจารณาอนุมัติอัตโนมัติ โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจเอกสาร เพื่อตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียด ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน และจะออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรฐานสถานที่ผลิต”

“พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลการอนุญาตสถานที่ผลิตดังกล่าวสำหรับใช้ในการตรวจสอบ รวมทั้งอย.กับ กสทช. จะร่วมกันตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาเกินจริง โดยอย.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกสื่อที่ กสทช. หากพบไม่ถูกต้องจะส่งเรื่องให้ กสทช.ระงับการโฆษณาได้ทันที”

“ขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุ เคเบิ้ลทีวี ในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง”

“เช่นอ้างรักษาได้สารพัดโรค  เพราะอาหารไม่ใช่ยาที่จะรักษาหรือป้องกันโรคได้ นอกจากจะสิ้นเปลืองเงินแล้วยังอาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึงจากยาหรือสารอันตรายที่ผสมในผลิตภัณฑ์เหล่านั้น และเครื่องสำอางไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของร่างกายได้ จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ”

หากพบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถแจ้งสายด่วน อย. 1556, แอปพลิเคชัน Oryor Smart Application ทางเว็บไซต์ อย. หรือร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์ ศรป.อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ  

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน