X
วันแรงงาน

กลุ่มแรงงานฯ บุกทำเนียบรัฐบาล ทวง 10 ข้อเรียกร้องเดิม

วันแรงงาน – คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล จี้ 10 ข้อเรียกร้องเดิม กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ย้ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ

วันนี้ (1 พ.ค.61) เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) รวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เนื่องในวันกรรมกรสากล ร่วมเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวง 10 ข้อเรียกร้องที่ คสรท. และ สรส. ได้มีการเสนอรัฐบาลไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ทางรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ภายใต้คำขวัญ “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน” สำหรับ 10 ข้อเรียกร้องที่ คสรท. และ สรส. เสนอรัฐบาล ได้แก่

ข้อที่ 1 รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ประกอบด้วย ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย และด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ข้อที่ 2 รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ รวมถึงกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

ข้อที่ 3 รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและ การเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)

ข้อที่ 4 รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ประกอบด้วย ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ , จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ และให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

ข้อที่ 5 รัฐต้องยกเลิก นโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

ข้อที่ 6 รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ประกอบด้วย ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม , จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน , เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33 , เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย , ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับที่ออกตาม พรบ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558 , ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

ข้อที่ 7 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

ข้อที่ 8 รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตามผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ (กรณีศึกษา บริษัท บริติช-ไทยซินเทติค เท็กสไทล์ จำกัด)

ข้อที่ 9 รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ

ข้อที่ 10 รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ

วันแรงงาน

ขอขอบคุณภาพจากแฟนเพจ Voicelabour 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน