X

กทม.กางแผนพัฒนาผังเมืองครั้งที่ 4 ชูโมเดลทำเมืองกระชับเน้นการขนส่งทางราง

กรุงเทพมหานครจัดประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เสนอแนวคิดพัฒนาเมืองด้วยการยกระดับขนส่งทางรางเป็นการขนส่งหลัก ตั้งเป้าภายใน 20 ปีขยายการเดินทางทางรางให้ได้ 500 กม. พร้อมปรับเมืองให้กระชับขึ้น

หลังจากร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้ผ่านการพิจารณาของคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครไปเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา และเตรียมปิดประกาศ 90 วัน เพื่อรับคำร้องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ล่าสุดวันที่ 24 พ.ค.ครบกำหนด 90 วัน กรุงเทพมหานครจึงได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยมีนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็น

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้มีกฎกระทรวงพัฒนาผังเมืองตั้งแต่ปี 2535 และปรับปรุงผังเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง สำนักงานผังเมืองฯ พิจารณาเห็นว่า กทม. มีการเปลี่ยนแปลงไปมากและมีความหนาแน่นของประชากรเพิ่มมากขึ้นทุกปี รวมไปถึงการขยายโครงการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผังเมือง

และเมื่อได้ประกับชุมทุกภาคส่วนแล้วได้มีมติเห็นชอบให้ กรุงเทพมหานครจัดวางผังเมืองใหม่ โดยร่างผังเมืองที่ได้นำมาเสนอวันนี้ ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ และติดประกาศไว้หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เสนอแนวคิดต่างๆ เพื่อเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

หลังจากที่นายทวีศักดิ์ได้กล่าวเปิดการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ทางกรุงเทพมหานครได้นำเสนอแผนปรังปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ไว้ดังนี้

กรุงเทพมหานครได้ทำการปรับปรุงผังเมืองจากปี 56 ดำเนินการโดยใช้อำนาจ พร.บ ผังเมือง พ.ศ. 2518 เนื่องจากบริบทของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันเปลี่ยนไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม หรือการคมนาคม

“สำหรับกรุงเทพมหานครคาดการณ์เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการวางผังเมืองใหม่ในครั้งนี้ในอีก 20 ปีข้างหน้า”

และการปรับปรุงตัวผังเมืองต่างๆ รวมทั้งสิ้น 1,568 ตร.กม. และต้องการให้ตัวผังเมืองของกรุงเทพมหานคร มีความต่อเนื่องจึงอยากให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับตัวผังเมืองที่ปรับปรุงใหม่จะได้ประโยชน์ในด้านที่ดิน และการคมนาคม มากที่สุด ซึ่งกรุงเทพมหานครจะควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนของการกำหนดความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่

ส่วนการคมนาคมนั้นกรุงเทพมหานครคาดหวังในการดำเนินการโดยอยากให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 5 คือการประชุมรับฟังความเห็นจากประชาชน แต่ยังมีขั้นตอนอีกเยอะ กว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น แต่พยายามจะทำงานให้กระชับสอดรับกับตัวผังเมืองที่จะประกาศใช้

“ภายใน 20 ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานครคาดหวังการเปลี่ยนแปลงการคมนาคมคือต้องการจะพัฒนาระบบรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของเมือง ตั้งเป้าเพิ่มการขนส่งทางรางรวมเป็นระยะทางให้ได้ 500 กม.”

สำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่กรุงเทพมหานครมุ่งเน้น คือนโยบายต่างๆที่จะเข้ามากระทบกับกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของประชากรการจ้างงานที่จะตามมาอีกด้วย ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงต้องเตรียมรับมือกับปัญหาต่างๆที่จะเข้ามา ซึ่งขณะนี้ก็ได้เริ่มรับมือไปบ้างแล้ว

ปัจจุบันการพัฒนาโครงการใหญ่ๆเกิดขึ้นเยอะมากมาย ซึ่งมีหลายโครงการที่ได้เริ่มพัฒนาไปบ้างแล้วอย่างเช่น อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และศูนย์คมนาคมมักกะสัน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อผังเมืองทั้งสิ้น รวมไปถึงในอนาคตต้องมีโครงการใหญ่ๆ เพิ่มขึ้น จุดนี้เป็นจุดที่ดึงเข้ามาเพื่อใช้วิเคราะห์ในการพัฒนาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยก็เป็นอีกปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์ในการพัฒนาผังเมืองเพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาทุกปี ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญด้วยที่จะนำมาเป็นปัจจัยวิเคราะห์เตรียมรับมือพัฒนาผังเมือง

ส่วนในเรื่องของการเฝ้าระวังในเมืองเช่นการก่ออาชญากรรมเหล่านี้ก็ต้องนำมาเป็นประเด็นขบคิดด้วยเช่นกันว่าจะรับมือและจะเฝ้าระวังอย่างไร นอกจากนี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดเดา และการเปลี่ยนแปลงเริ่มมีผลกระทบมากขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินชีวิต และช่วงหลังเริ่มกระทบกับทางธุรกิจด้วย เช่นฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างผลกระทบให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องนำมาคิดทบทวนในการพัฒนาผังเมืองด้วยกันทั้งนั้น

สำหรับสภาพการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องรีบเปลี่ยนแปลงผังเมืองเพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ต้องดูวัตถุประสงค์ของกฏหมายในการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวม มีสาระสำคัญคือส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน, ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นทางผ่านทางเข้าออกสู่ภูมิภาคอาเซียน

ส่งเสริมความสะดวกรวดเร็วและความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง, ส่งเสริมความสมดุลของที่อยู่อาศัยและแหล่งงาน, ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยสนับสนุนแรงงานที่มีฝีมือดี ดำรงรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยการบริหารจัดการเมืองแบบกระชับ

ส่งเสริมความเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชุมชนทั้งของกรุงเทพมหานครและของชาติ, ส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศน์และภูมิทัศน์การตั้งถิ่นฐานโดยการอนุรักษ์ทรัพยากร, ส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงการก่อวินาศกรรม โดยจะต้องติดตั้งกล้องซีซีทีวีมากขึ้น และส่งเสริมการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยการลดการใช้พลังงานและเพิ่มพื้นที่สีเขียว

“หลังจากที่ได้ตั้งวัถุประสงค์ในการพัฒนาผังเมืองมาแล้ว ทำให้สามารถกำหนดผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปี 2580 ได้อย่างมีสาระสำคัญคือการทำเมืองให้กระชับ”

ส่วนแนวคิดในการใช้พื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น แบ่งแนวคิดการใช้พื้นที่ได้ดังนี้คือ เขตกรุงเทพมหานครชั้นในเป็นพื้นที่อนุรักษ์ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์และกรุงธนบุรี, พัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอบคมนาคมและย่านชุมชนเมือง

พัฒนาย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นให้สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และรักษาพื้นที่เกษตรกรรมชานเมือง นอกจากนี้จะมีการเพิ่มระบบระบายน้ำด้วยคูคลองให้มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการลงทุนของภาครัฐที่จะเน้นการขนส่งทางรางมากขึ้น และลดการสูญเสียของประชาชนในด้านอุทกภัยด้วย

ขณะที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน กรุงเทพมหานครต้องการลดผลกระทบต่างๆในสังคม เช่นถ้าปล่อยให้อุตสาหกรรมมลพิษไปอยู่ติดกับที่อาศัยของชุมชนก็จะส่งผลเสีย ดังนั้นจึงต้องควบคุมโดยจะตั้งเงื่อนไขในการปัญหาอย่างถูกจุด นอกจากนี้ยังเป็นการควบคุมความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ด้วย

ด้านผังคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานครมีการพัฒนาระบบรางมากขึ้นแน่นอนในอนาคต ดังนั้นมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาการขนส่งทางรองเสริมกันไปด้วย เพื่อให้สามารถเดินรถ 2 แถว หรือ วินมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกไปยังสถานีรถไฟฟ้าได้ง่ายมากขึ้น  ส่วนพื้นที่โล่งก็มีความจำเป็นต้องเพิ่มสวนสาธารณะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และระบายน้ำกันน้ำท่วม

ส่วนมาตรการผังเมืองเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรม กรุงเทพมหานครมีมาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดินเดิม มีการจัดให้มีที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาด หรือที่อยู่อาศัยสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่โครงการ ทำให้ผู้มีรายได้ปานกลางมีที่อยู่อาศัยใกล้กับแหล่งงาน

จัดให้มีพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสวนสาธารณะ จะจัดให้มีในพื้นที่ กรุงเทพมหานครชั้นใน, จัดให้มีจุดจอดรถยนต์บริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าโดยเน้นเฉพาะชานเมืองเพื่อลดการหนาแน่นของการจราจรชั้นใน,  จัดให้มีพื้นที่รองรับน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และมีการก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน

การจัดให้มีพื้นที่เพื่อเปลี่ยนถ่ายการสัญจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน, จัดให้มีพื้นที่ว่างเพื่อประโยชน์สาธารณะสวนสาธารณะริมน้ำ ลำคลอง, จัดให้มีพื้นที่สำหรับรับเลี้ยงเด็กและคนชราในเวลากลางวัน เพื่อเป็นการปรับรับต่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ภายในการประชุมได้มีการแจกหนังให้ประชาชนร่วมกันเสนอแนะแนวคิดต่างๆ สำหรับพัฒนาผังเมือง โดยภายในหนังสือประกอบด้วยชื่อที่อยู่, การระบุความเป็นเจ้าของต่อพื้นที่ที่อยู่ในการวางผังเมือง และประชาชนต้องระบุเหตุผลว่าโดนผลกระทบอะไรจากการวางผังเมืองใหม่หรือไม่ โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร จะนำข้อคิดเห็นของประชาชนที่ได้มีการเสนอแนะมา ไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผังเมืองกรุงเทพมหานครต่อไปด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน