X

นักวิชาการจุฬาฯ แนะวิธีป้องกันอันตรายจาก PM 2.5

นักวิชาการจุฬาฯ แนะวิธีป้องกันอันตรายจาก PM 2.5 ชี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และสวมหน้ากากอนามัยที่ผ่านการรับรองจากห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ติงสภาพเมืองกรุงเทพฯ มีตึกสูงเยอะ ประกอบกับสภาพอากาศปิดในช่วงนี้ทำให้ระบายฝุ่นยาก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “จุฬาฯ ฝ่าวิกฤตรับมือฝุ่น PM 2.5 “ ภายในงานมีการเสวนาพิเศษเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ไขคำตอบฝุ่น PM 2.5 ทำให้เป็นมะเร็งจริงหรือไม่ ฝุ่น PM 2.5 มาจากการก่อสร้างจริงหรือไม่ และหน้ากากแบบไหนจึงป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ โดยวงเสวนาประกอบด้วย

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผอ.สถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผอ.สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีด้านวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความคิดเห็น

แนะผู้ป่วยงดออกจากบ้าน ใช้หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน

รศ.ดร.ศิริมา กล่าวว่า ที่มาของการสะสมของ PM 2.5 เกิดจากปัจจัย 2 สิ่ง

1.แหล่งกำเนิดการเผาไหม้ การคมนา การขนส่ง

 2.ปัจจัยธรรมชาติเช่นช่วงอากาศปิด

ทั้งนี้กรุงเทพฯ มีตึกสูงจำนวนมากและไม่มีการระบายลมที่ดีเท่าทีควร ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งอยู่กับที่สะสมเป็นจำนวนมาก ซึ่ง PM 2.5 มีมานานแล้ว แต่เพิ่งมามีความเข้มข้นในช่วงนี้เพราะเกิดจากอากาศปิด

ทั้งนี้อยากเสนอแนวทางแก้ปัญหาคือ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคหอบหืดไม่ควรออกจากบ้านถ้ามีความจำเป็นให้ใช้หน้ากากป้องกัน PM 2.5 แต่ต้องสวมใส่หน้ากากให้ถูกวิธี ควรเลือกหน้ากากที่ป้องกัน PM 2.5 ได้และระบุว่าผ่านการทดสอบจากห้องปฏิบัติการมาตรฐาน

และถ้าจำเป็นต้องสวมหน้ากากเป็นระยะเวลานานควรเลือกหน้ากากชนิดที่มีระบบการช่วยหายใจ สิ่งสำคัญคือการทดสอบการแนบสนิทของหน้ากากกับใบหน้า นอกจากนั้นยังควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมการแจ้งหรือบริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิดหรือการทำกิจวัตรภายนอกอาคาร และต้องปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในที่พักอาศัย

เช่นการทำความสะอาดระบบเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ และถ้าต้องการติดตั้งอุปกรณ์ลดฝุ่นละอองภายในบ้าน ควรทำความเข้าใจการใช้งานของอุปกรณ์นั้นๆ รวมทั้งการบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างถูกวิธี

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้ด้วยการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และใช้การสัญจรด้วยการเดินเท้า และใช้การเดินทางด้วยจักรยานรวมถึงใช้บริการขนส่งสาธารณะ แต่กรณีต้องการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลควรหมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์หรือเลือกใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยไปเสีย และลดการเผาไหม้ในที่โล่ง

ทั้งนี้มีการแนะนำแอพพลิเคชั่นในการตรวจสอบค่า PM 2.5 ซึ่งแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือคือแอพพลิเคชั่น Air4Thai จะมีค่าสภาพ AQI สูงสุดแสดงให้เห็นตลอดทั้งวันและมีการอัพเดทแบบเรียลไทม์ทุกชั่วโมงต่อชั่วโมง  และเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษที่มีประกาศแจ้งเตือนสภาพอากาศให้กับประชาชนได้ทราบ

ขณะเดียวกันการจะลดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯ ให้เหลือ 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานต้องใช้ตัวฉีดน้ำ 20 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 30,000 ตัว ทั้งกรุงเทพฯ ถึงจะทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลงมาจาก 60 มคก./ลบ.ม. เป็น 50 มคก./ลบ.ม.

ชี้ใช้การขนส่งสาธารณะลด PM 2.5

ขณะที่ รศ.ดร.มาโนช ได้หล่นทัศนะไว้ว่า งานวิจัยจากฝั่งยุโรป และสหรัฐฯ ยืนยันว่าการขนส่งเป็นต้นเหตุของการสร้างสภาวะ PM 2.5 ในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี ซึ่งการขนส่งมีการทำทั้งปี แต่ที่เพิ่งมาเกิด PM 2.5 ในช่วงนี้เพราะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศปิด จึงเป็นสาเหตุในการก่อตัวง่าย

จากการที่สภาพอากาศที่ปิดในช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ประกอบกับสภาพการพัฒนาเมืองในกรุงเทพมหานครที่มีตึกสูงเป็นจำนวนมาก ทำให้ฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ไม่สามารถระบายออกไปได้เหมือนในช่วงเวลาอื่นๆ

ปัญหานี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีถ้าต้นเหตุเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ต้นเหตุของฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคขนส่งมาจากเครื่องยนต์รถที่เผาผลาญไม่สมบูรณ์ คือรถดีเซล รถเก่าที่ไม่ได้รับการปรับปรุงรักษา การแก้ปัญหา PM 2.5 ในภาคการขนส่งระยะยาวจึงต้องยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิง สามารถลดฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างชัดเจน

เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อีกแนวทางหนึ่งซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้คือการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ การส่งเสริมพัฒนาเมืองเพื่อประชาชนสามารถเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ เช่นใช้จักรยาน หรือการเดินให้ไวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย

ส่วนวิธีแก้ปัญหาในระยะกลางควรมีการเข้มงวดเรื่องเครื่องยนต์ การตรวจสภาพรถยนต์ และการบังคับใช้กฏหมายที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและส่งเสริมการใช้ระบบการขนส่งสาธารณะอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนหลากหลายรูปแบบในกรุงเทพมหานคร

ตั้งแต่รถไฟฟ้า รถเมล์ ไปจนถึงจักรยานยนต์รับจ้าง สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะให้คนและสินค้าสามารถเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย ตรงเวลา สะดวกประหยัด การปรับปรุงรถเมล์ให้ได้มาตรฐาน มีความน่าใช้ จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปรถเมล์ทั้งระบบ

และสิ่งที่ไม่ควนมองข้ามคือบทบาทของเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาทำให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะปลอดภัย ตรงเวลาและสะดวกมากขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้นนั้น เรื่องสำคัญที่สุดคือการดูแลสุขภาพของประชาชน การแก้ไขปัญหาฝุ่นขนาดเล็กในภาคขนส่งที่ทำได้ชัดที่สุดคือลดการเดินทางของคนในเมืองและการขนส่งสินค้าที่ไม่จำเป็น

แนะเร่งแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าปล่อยฝุ่น ลด PM 2.5

ด้าน รศ.ดร.กุลยศ เผยว่า โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื่อเพลิง ซึ่งจะปลดปล่อยมลพิษและฝุ่นต่ำ ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านหินจะอยู่ที่บริเวณภาคกลางฝั่งตะวันออก ซึ่งจะมีระบบดักจับฝุ่น และระบบการวัดปล่อยมลพิษที่ต้องรายงานภาครัฐ

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะมีขนาดเล็ก กระจายตัวทั่วไปบริเวณภาคกลาง ซึ่งมีปริมาณกำลังการผลิตไม่มากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ สำหรับโรงงสนอุตสาหกรรม ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงความร้อนสำหรับ Boiler กระจายตัวในภาคกลาง

นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมอีกส่วนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงความร้อนสำหรับ Boiler ด้วย การกระจายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้เชื้อเพลิงความร้อน มีแนวโน้มใกล้เคียงกับการกระจายของ PM 2.5 แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือขณะนี้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าที่ปล่อยฝุ่นกระจายอยู่เยอะ จุดนี้เป็นจุดที่ต้องเร่งเข้าไปดูแลและแก้ไขโดยด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการปล่อยฝุ่นในปริมาณมาก ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิด PM 2.5

เผยอันตรายจาก PM 2.5 พร้อมแนะการใช้หน้ากากที่ถูกวิธี

ส่วน ศ.นพ.เกียรติ ทิ้งท้ายว่า PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะสั้น ทำให้เกิดผื่นคัน แสบเคืองตา มีอาการไอ จาม ส่งผลให้มีอาการหอบและความดันสูงได้ ส่วนผลกระทบในระยะยาว จะทำให้อัตราการตายสูงขึ้นจากการเป็นมะเร็งปอด โรคหัวใจ ซึ่ง PM 2.5 จะทำลายระบบภูมิป้องกันของทางเดินหายใจ

ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นที่ตา ผิวหนัง จมูก ทางเดินหายใจ และทำลายสายพันธุกรรมของเซลล์หรือ DNA หากระบบซ่อมแซมผิดพลาด โดยจะทำให้เกิดมะเร็งได้ และ PM 2.5 สามารถซึมเข้าระบบไหลเวียนเลือดไปเกิดการอักเสบของร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งจะเกิดผลกระทบกับทารกในครรภ์ เพราะสารเหล่านี้ทำให้มีผลเสียต่อพัฒนาการของทารกได้

ซึ่งการใช้หน้ากากอนามัยต่อให้ใช้หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันอันตรายจาก PM 2.5 ได้ถ้าสวมใส่ผิดวิธี การสวมใส่หน้ากากอนามัยนั้นควรใส่ให้พอดีกับใบหน้าและไม่ให้มีช่องว่าง ใส่กระดาษทิชชู่หรือผ้าเช็ดหน้าเข้าไปภายในหน้ากากอนามัยก็จะช่วยป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ได้เพิ่มมากขึ้น

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน