X

กกต.หารือพรรคการเมืองเรื่องหาเสียง คาดได้ข้อสรุปไม่เกินสิ้นปี

คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)เรียกพรรคการเมือง 77 พรรคหารือเรื่องกฏเกณฑ์การหาเสียง ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ กกต.ยืนยันต้องพิจารณาให้เสร็จก่อนสิ้นปี 2561

ด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากวันที่มีประกาศ ทาง กกต. จึงได้เชิญพรรคการเมือทั้งหมด 77 พรรค เข้าหารือกฎกติกาในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62

บรรยากาศที่โรงแรมเซ็นทารา ศุนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ในช่วงเช้าวันที่ 19 ธ.ค. เป็นไปอย่างคึกคักโดยประธานคณะกรรมการเลือกตั้งพร้อมคณะ และตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 77 พรรคเข้าร่วมประชุม โดยมีสื่อมวลชนจำนวนมากให้ความสนใจ

นายอิทธิพล บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)พร้อมด้วยกรรมการเลือกตั้งเลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้งเข้าร่วมประชุมหารือระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมีวาระการหารือด้วยกัน 3 ประเด็นดังนี้

1.กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้ง  

2.กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำ กำหนดสถานที่ และที่ปิดหรือโฆษณาแผ่นป้ายการโฆษณาหาเสียงการเลือกตั้ง เช่นชื่อตัว สกุล รูปถ่ายผู้สมัคร รูปถ่ายผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรคการเมือง หรือบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี

3.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซเชียลมีเดีย

นายอิทธิพร กล่าวภายหลังการร่วมหารือกับพรรคการเมืองว่า มติทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ในวันนี้ โดยเรื่องแรกคือการจำกัดวงเงินในการเลือกตั้งนั้นในที่ประชุมมีการเสนอให้จำกัดวงเงินขึ้นต่ำอยู่ที่  2 แสนบาท – 2 ล้านบาทของการลงสมัครแบบแบ่งเขตโดยคำนึงถึงค่าครองชีพที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้ทาง กกต.ได้เสนออยู่ที่วงเงิน 2 ล้านบาท ขณะที่การจำกัดวงเงินของพรรคการเมืองก็มีหลายเสียงที่เสนอมาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งการจำกัดวงเงินทั้ง 2 อย่างนี้ทาง กกต. จะนำไปพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง

ขณะที่เรื่องที่สองคือการกำหนดสถานที่ แผ่นป้ายในการใช้เลือกตั้ง โดยที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นไปในหลากหลายประเด็น แต่ที่เหมือนกันคืออยากให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุด ที่ผ่านมาเรื่องการกำหนดสถานที่ต่างๆในการใช้ติดป้ายหาเสียงยังไม่ชัดเจน ขณะที่เรื่องจำนวนแผ่นป้ายหาเสียงที่มีการถกเถียงว่าจะเพิ่มหรือลดนั้นก็ยังคงหาบทสรุปไม่ได้เพราะในที่ประชุมหลายฝ่ายก็มีข้อเสนอที่ต่างกันออกไปทั้งเพียงพอแล้ว ไม่เพียงพอ และควรลด จากหลายๆเหตุผล ขณะที่มีการเรียกร้องขออนุญาตติดแผ่นป้ายหาเสียงกับรถแห่หาเสียงของแต่ละพรรคนั้น กกต. ก็ยังต้องเก็บไปพิจารณาอีกครั้งว่าจะอนุญาตได้หรือไม่

ส่วนเรื่องการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียนั้น กกต.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมพร้อม เรื่องนี้ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ ไว้ 5 ข้อคือ

1.การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นช่องทางหนึ่งในการหาเสียงทั่วๆไป เพื่อแสดงถึงนโยบายผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ดังนั้น การหาเสียงโดยการให้ สัญญาว่าจะให้ สัญญาว่าจะใช้มหรสพ รื่นเริง หลอกลวงใส่ร้าย จึงห้ามกระทำ

2.การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ หมายความว่า การหาเสียงเลือกตั้งที่กระทำขึ้นโดยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือการใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนโดยทั่วไป (เพื่อบังคับให้ครอบคลุม)

3.ในการหาเสียงเลือกตั้งทาง อิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งให้ คณะกรรมการเลือกตั้งทราบ โดยผู้สมัคร ให้แจ้ง กกต.จังหวัด ตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้งเป็นต้นไป หรือก่อนการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะได้ทราบข้อมูลในการหาเสียงจากผู้สมัครโดยตรง

4.บุคคลที่ไม่ใช่ผู้สมัครและพรรคการเมือง สามารถช่วยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยต้องระบุข้อมูลผู้ดำเนินการที่สามารถเจาะจงตัวตนได้ ระบุผู้จัดทำ และหากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวเกินกว่า 10,000 บาท ให้ผู้นั้นแจ้งต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ทราบ ทั้งนี้ ให้ผู้สมัครเจ้ง สำนักงาน กกต.จังหวัดทราบ ในกรณีพรรคการเมือง ให้แจ้งต่อเลขาธิการทราบ และหากผู้สมัครหรือ พรรคการเมือง รู้เห็นกับการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังกล่าวเกินกว่า 10,000 บาท ให้คิดเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองนั้น

5.กรณีที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ผู้ใดมีการ กระทำการเป็นต้องห้ามตามระเบียบ ให้กกต. สั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือ ลบข้อมูล ให้กกต.แจ้งคำสั่ง ให้ผู้สมัครหรือ พรรคการเมืองหรือผู้ใด ดำเนินการโดยเร็ว กรณีผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใดไม่ดำเนินการตามคำสั่ง ให้สำนักงาน กกต.แจ้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง (กสทช. ปอท.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และแจ้งผู้ให้บริการดำเนินการด้วย

ทั้งนี้ประธาน กกต. ได้กล่าวว่าข้อสรุปทั้ง 3 ข้อที่ได้มีการหารือกันในวันนี้ ทาง กกต. จะรีบดำเนินการและพิจารณาให้เสร็จก่อนสิ้นปี 2561 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน