X

ก.เกษตร คุมเข้มใบด่างมันสำปะหลัง ป้องกันลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์ผิดกฎหมาย

กระทรวงเกษตรฯ ประกาศเขตควบคุมใบด่างมันสำปะหลัง สกัดโรคแพร่กระจายกระทบอุตสาหกรรมมันกว่าแสนล้าน วางมาตรการเคร่งครัดแนวชายแดนป้องกันการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์ผิดกฎหมาย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ 4 สมาคมผู้ประกอบการมันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย โดยร่วมกันหารือแนวทางการป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ว่า ขณะนี้พบพื้นที่ที่มีอาการต้องสงสัยใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ อำเภอบัวเชด จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอภูสิงห์ ซึ่งทำลายไปแล้วรวม 68 ไร่ ใน 2 จังหวัด

ส่วนจังหวัดปราจีนบุรี หมู่ 3 และ หมู่ 6 ตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ ได้ทำการสำรวจแล้วพบการระบาดกระจายเป็นบริเวณกว้าง ในพื้นที่ 800 ไร่ ซึ่งการแพร่ระบาดมี 2 ทาง คือ 1. แพร่ทางท่อนพันธุ์ และ 2. มีพาหะหรือแมลงหวี่ขาว ซึ่งป้องกันด้วยการฝังกลบ พร้อมกันนี้ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศพื้นที่แพร่ระบาดที่ต้องมีการทำลายมันสำปะหลัง เป็นเขตภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เพื่อจะได้สนับสนุนเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรที่ให้ความร่วมมือ หากพบมันสำปะหลังเสียหายโดยสิ้นเชิง จะได้รับค่าชดเชยไร่ละ 1,148 บาท จำนวนไม่เกิน 30 ไร่

ขณะนี้ได้สั่งการทุกจังหวัดที่มีพื้นที่การปลูกมันสำปะหลัง ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรหมั่นเข้าสำรวจแปลงมันสำปะหลังของตัวเองอย่างต่อเนื่อง หากพบอาการผิดปกติ รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เกษตร ทันที นอกจากนี้ยังกำชับให้ทุกพื้นที่ที่สำเร็จแล้ว ติดตามอย่างต่อเนื่อง ทุก ๆ 2 อาทิตย์  พร้อมทั้งใช้กลไกของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) 882 แห่ง ทั่วประเทศ ให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น ผ่านการให้ความรู้ของเกษตรกรด้วย ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ พื้นที่เสี่ยงมาก

ได้แก่ พื้นที่ติดชายแดนในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างทรวม 6 จังหวัด และแหล่งจำหน่ายพันธุ์ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง ได้แก่ พื้นที่ติดชายแดนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวม 11 จังหวัด และพื้นที่เสี่ยงน้อย ได้แก่ พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไป จำนวน 31 จังหวัด โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนพื้นที่ทั่วไปให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงการคลัง เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่แนวชายแดนตรวจสอบและวางมาตรการอย่างเคร่งครัดในการนำเข้าสินค้าเกษตร

เนื่องจากอาจมีการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศซึ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการระบาด เกษตรกรต้องใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากโรค นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน จัดเจ้าหน้าที่คอยตรวจเฝ้าระวัง และขอความร่วมมือทั้ง 4 สมาคม หากพบพื้นที่ใดมีลักษณะคล้ายโรคใบด่างในมันสำปะหลังให้แจ้งศูนย์ปฏิบัติการกำจัดโรคใบด่างเพื่อเข้าไปแก้ไขทันทีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชนสามารถได้ร่วมมือกันเพื่อดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นจากทั้ง 4 สมาคม รวมทั้งสนับสนุนพันธุ์มันสำปะหลังใหม่ด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้สินค้ามันสำปะหลังกำลังเป็นที่ต้องการในตลาด ราคาดี จึงต้องช่วยกันดูแลเพื่อให้สามารถปลูกได้และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จึงขอให้เกษตรกรเพิ่มความระมัดระวังในการนำท่อนพันธุ์ใหม่มาปลูก หากไม่แน่ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และรีบแจ้งทันที

ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า โรคใบด่างมันสำปะหลังมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เป็นโรคที่มีความสำคัญทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ที่สำคัญสามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ดังนั้นตั้งแต่ปี 2558-2561 กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อดังกล่าว

เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาในประเทศไทย โดยเข้มงวดการนำเข้ามันสำปะหลัง จัดทำมาตรการด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย และแผนปฏิบัติการฉุกเฉินในกรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังขึ้นในประเทศไทย  พร้อมทั้งสร้างการรับรู้โดยประชุมชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้อง และดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศจำนวน 50 จังหวัด รวมพื้นที่ 2,668,000 ไร่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงจังหวัดที่อยู่บริเวณชายแดน

ส่วนนายเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรณีที่มีศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงปรากฏขึ้นในท้องที่ใด  เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายหรือแพร่กระจายไปสู่พื้นที่อื่นซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น กรมวิชาการเกษตรจำเป็นต้องประกาศเขตควบคุมศัตรูพืช พ.ศ.2561 ในเขตพื้นที่หมู่ 3 และ หมู่ 6 ตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี  เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้านดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตพันธุ์มันสำปะหลังที่สำคัญแหล่งหนึ่งซึ่งสามารถกระจายพันธุ์ไปปลูกต่อในพื้นที่ได้ถึง 50,000 ไร่ ซึ่งหากมีการขนย้ายออกไปปลูกในแหล่งอื่นอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทของประเทศได้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน