X

ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและยุติปัญหาร้องเรียนวัดไทร

ภายหลังมีประชาชนที่อาศัยใกล้วัดไทร ร้องเรียนว่าวัดตีระฆังเสียงดังรบกวนผู้อาศัย ล่าสุด  เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาระบุว่า วัดตีระฆังไม่ผิด แต่เป็นความผิดของผู้ร้องที่เข้าข่ายเหยียดศาสนา ขณะที่ผู้ว่าฯ กทม.ยุติปัญหาให้วัดไทรตีระฆังต่อ

 

ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร เข้ากราบขออภัยเจ้าอาวาสวัดไทร พร้อมพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีร้องเรียนวัดไทร ย่านพระราม 3 ตีระฆังเสียงดัง (4 ต.ค.2561) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุผู้อาศัยคอนโดสตาร์วิวชาย-หญิง 2 คน ร้องเรียนสำนักงานเขตบางคอแหลม กรณีวัดไทรตีระฆังเสียงดังรบกวนลูกบ้านในคอนโด

 

 

พล.ต.อ.อัศวิน บอกว่า พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ กทม. เร่งแก้ปัญหานี้ เพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจกับเจ้าอาวาสและพระสงฆ์ในวัดไทรหลังจากที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางคอแหลมได้อนุมัติหนังสือลงวันที่ 2 ตุลาคมให้ วัดไทรปรับลดระดับตีระฆัง ให้เบาลงรวมถึงปรับช่วงเวลาในการตีระฆังให้เหมาะสม

หลังจากเห็นคำสั่งที่ออกมา ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันเป็นคำสั่งที่สร้างเข้าใจผิดให้กับสังคม จึงตั้งใจมากราบขออภัยกับเจ้าอาวาส และให้ผู้อำนวยเขตบางคอแหลม ประสานไปยัง 2 ผู้ร้องเรียน เนื่องจากการตีระฆังเป็นประเพณีของไทยโดยจะนัดเจอนอกสถานที่ก็ได้ และให้สัมภาษณ์ว่า
“คนร้องเรียน เขาอาจจะลืมประเพณี มันมีมาแต่โบราณเขาอาจจะลืมไป บ้าน วัด โรงเรียน ต้องไปด้วยกัน “

 

 

ส่วนผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคนก่อนที่ออกคำสั่งมา กทม.ได้ให้ทำหนังสือชี้แจงมาอย่างละเอียดว่าเหตุใดถึงออกหนังสือ โดยที่ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

 

พระพยอม กัลยาโณ เทศนาคนร้องเรียนวัดตีระฆังเสียงดังรบกวน

 

วันเดียวกันนี้ทางด้าน พระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์ชื่อดัง เจ้าอาวาสผู้พัฒนามูลนิธิวัดสวนแก้ว เทศนาคนร้องเรียนวัดตีระฆังดังรบกวน ระบุคนสมัยนี้หูบาง หูหาเรื่อง ถามจะให้ขนบธรรมเนียม จารีดประเพณี ยุติแต่ยุคนี้หรือ พระตีระฆังแค่ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน อีก 9 เดือน สบายหูยังไม่พอใจอีก เวลาตีระฆังหมายังหอนรับ หูคนเป็นยังไงทำไมรับไม่ได้

 

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ขัดต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน

 

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงถึงสื่อมวลชน ระบุว่ากรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ขัดต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากการตีระฆัง หรือตีกลองเพล กลองย่ำค่ำ เป็นกิจของสงฆ์ที่ทุกวัดยึดถือปฏิบัติกันมานับพันปีแล้ว ซึ่งปุถุชนชาวพุทธทั่วไปย่อมรู้และเคารพในจริยวัฒน์ที่พึงกระทำของวัดอันเป็นอัตลักษณ์ในทางพุทธศาสนา

ซึ่งวัดไทรมีอายุมากกว่า 300 ปีและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาโดยชอบด้วยกฎหมายมานานแล้ว ย่อมมีอำนาจในการประกอบสังฆกรรมได้ทุกประเภท แต่การที่มีผู้อยู่อาศัยในคอนโดฯ ไปร้องเรียนวัดและกดดันสำนักงานเขตจนต้องดราม่ามีการออกหนังสือเตือน อาจเข้าข่ายการ “เหยียดหยามศาสนา” ตามป.อาญา มาตรา 206 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

กฎหมายนี้มีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องความรู้สึกของประชาชนในการนับถือศาสนา ซึ่งการพิจารณาความผิดตามมาตรานี้จึงต้องนำความรู้สึกของคนทั่วไปที่นับถือศาสนามาประกอบการพิจารณา หากคนทั่วไปเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นการเหยียดหยามศาสนา ก็ต้องถือว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนา แม้ผู้กระทำจะอ้างว่าตนไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามศาสนาแต่กระทำไปด้วยเจตนาอื่นก็ตาม

นอกจากนี้การที่กระทรวงมหาดไทยหรือ กทม.ไม่ยอมใช้อำนาจในการออกประกาศหรือออกกฎกระทรวงตามมาตรา 13 แห่งพรบ.ควบคุมอาคาร 2522 กำหนดบริเวณห้ามการก่อสร้างอาคารสูงที่อยู่ใกล้วัดในรัศมีเกินกว่า 1,000 เมตรขึ้นไป และไม่กำหนดให้อาคารที่ปลูกใกล้วัดต้องมีวัสดุป้องกันเสียงในการก่อสร้างอาคารด้วย จึงกลายเป็นปัญหาจนเกิดความขัดแย้งขึ้น

 

 

ด้านนายสนธิ คชวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า กรณีพระวัดไทรตีระฆังรบกวนประชาชนบนคอนโดมิเนียมกับรายงาน EIA ได้ระบุไว้ในส่วนหนึ่งของรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมว่า ให้นิติบุคคลชี้แจงผู้อยู่อาศัยในโครงการเข้าใจและยอมรับในวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมรวมถึงจัดให้มีกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้คนในโครงการได้เข้าร่วมกิจกรรมกับวัดไทรในโอกาสหรือวันสำคัญต่างๆ เพื่อให้ชุมชนและโครงการสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้

 

 

รวมทั้งขอความร่วมมือผู้พักอาศัยภายในโครงการ ไม่ปฏิบัติกิจกรรมใดๆที่รบกวนหรือมีผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ในวัดไทรจากข้อมูลบางส่วนของรายงาน EIA สะท้อนให้เห็นได้ว่าผู้ที่จะเข้าพักอาศัยจะต้องได้รับทราบและยอมรับวิถีชีวิตและธรรมเนียมประเพณีของชุมชนและวัดไทรก่อนแล้ว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน