X

“อุตสาหกรรม”ผลักดันเกษตรแปรรูป ช่วยเหลือชาวสวนปลูกทุเรียนภาคใต้

กระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันเกษตรแปรรูปช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงงานร่วมลงนาม MOU ซื้อทุเรียนชาวสวนจังหวัดชายแดนใต้ปีนี้เกือบ 50,000 ตัน มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน

วันที่ 11 ก.ย. 61 ณ โถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดแสดงสินค้าเกษตรแปรรูป ของบริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด

โอกาสนี้ ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวรายงานถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ในระยะ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ สร้างงานให้แก่ประชาชน และสังคมให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

โดยมุ่งเน้นกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (First S- Curve and New S-Curve) โดยอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและความพร้อม ทั้งในด้านของวัตถุดิบและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง โดยเป็นการพัฒนาจึงมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตเกษตรแปรรูปและขยายช่องทางการตลาด

ให้เข้าถึงตลาดต่างประเทศต่างๆมากขึ้น รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ตราสินค้าไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลควบคู่กับการสร้างมาตรฐานการผลิต และมีการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดปทุมธานี โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ มีสถานประกอบการที่เป็นโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเข้าร่วม 5 ราย

สำหรับรายที่มาแสดงสินค้าเกษตรแปรรูปในครั้งนี้ คือ บริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด เป็นหนึ่งในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยเลือก 2 แผนงานมาใช้ในการพัฒนา คือ 1.แผนการปรับปรุงและพัฒนางาน 2.แผนการลดต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 6.85 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้จังหวัดปทุมธานี ได้ประสานให้บริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด รับซื้อผลไม้จาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยมีการลงนาม MOU กับเกษตรกร เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสหกรณ์การเกษตรจังหวัดยะลา เป็นตัวแทนลงนามฝ่ายเกษตรกร และเป็นผู้รวบรวมผลผลิต โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าว

ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ขายทุเรียนได้ในราคาต่ำ เนื่องจากไม่มีผู้เข้าไปรับซื้อ ประกอบกับทุเรียนในถิ่นนี้จะมีปัญหาหนอนทุเรียนเจาะทำลายทำให้ขายได้ราคาต่ำ แต่บริษัทดังกล่าวได้เข้าไปรับซื้อทุเรียนซึ่งเป็นผลผลิตของปีนี้เกือบ 50,000 ตัน จนสามารถยกระดับราคาหน้าสวนจากกิโลกรัมละ 40 บาท ขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 60-80 บาท มูลค่าในการซื้อขายทุเรียนประมาณ 4,000 ล้านบาท

ส่งผลให้เกษตรกรพึงพอใจเป็นอย่างมาก จากความสำเร็จในครั้งนี้ ทุเรียนและผลไม้ตกเกรด อาทิ ผลไม้ที่สุกหอมเกินจะนำมาแปรรูปเพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด เช่น ทำเป็นข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีม ทุเรียนกวนเคลือบช็อคโกแลต และอีกหลายๆ เมนู ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

โดยเฉพาะชาวจีนที่นิยมมาก มียอดขายไปจีนมากกว่าร้อยละ 90 การที่กระทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดปทุมธานี ได้ยื่นมือเข้ามาให้การสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรนี้ ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ ที่จะสามารถรองรับผลผลิตจากชาวสวนได้มากยิ่งขึ้น และนโยบายของรัฐบาลที่ให้การช่วยเหลือในลักษณะนี้ เป็นนโยบายที่เข้าถึงเกษตรกรโดยตรงและเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน