X

โซเชียลรัก “ลุงตู่”เหตุดราม่า “ศรีวราห์” เข้มข้อกม.นักขุดเจาะบินโดรน

โซเชียล แชร์คลิปรัก “ลุงตู่” ทักทายโดนใจ หลังเกิดกรณี ดราม่า ข้อกฎหมายขุดเจาะถ้ำ และบินโดรนในเขตวนอุทยานฯ ล่าสุด เพจเฟซบุ๊กทนายคู่ใจ แจงปมปัญหา กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการได้ไม่ผิด

จากกรณี ปมดราม่าในโลกโซเชียล เกี่ยวกับนายตำรวจท่านหนึ่งระดับ รองผบ.ตร.ได้ เตือนทีมขุดเจาะถ้ำหลวง จ.เชียงราย เกี่ยวกับอำนาจตามกฎหมาย ในการขุดเจาะวนอุทยานฯ ว่า ได้มีการประสานกรมทรัพยากรธรณีแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ ยังย้ำเรื่องข้อกฎหมายการบินโดรน เพื่อค้นหาทีมฟุตบอลเยาวชน หมูป่าอะคาเมดี และโค้ช รวม 13 ชีวิตที่ยังสูญหาย

ล่าสุด โลกโซเชียลมีการแชร์คลิปและข้อความ “รักลุงตู่ก็วันนี้แหละ ลุงตู่ได้ถามแทนชาวเน็ตให้แล้ว” ซึ่งจากคลิปจะเห็นว่า ขณะ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินลุยโคลน ให้กำลังใจทหารอยู่นั้น บังเอิญเจอกับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพาหมณกุล รอง ผบ.ตร. จึงกล่าวทักทายด้วยคำพูดว่า “ว่าไง มาทำไม มาจับใครหรอ ?!”  

ด้าน เพจเฟซบุ๊กทนายคู่ใจ ระบุว่า ถ้ำขุนน้ำนางนอนนั้น เป็นเขตอุทยานฯ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2504 ซึ่งมีเรื่องที่ห้ามทำหลักๆ ในเขตอุทยานฯ  ตามมาตรา 16 (10 ) คือ ห้ามนำอากาศยานขึ้นลง การใช้โดรนบินขึ้นลงนี่ถือว่า ผิด หากไม่ได้รับอนุญาต

เพราะโดรน ถือเป็นอากาศยานประเภทไร้คนขับ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับ หรือปล่อยอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 กรณีฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตาม ม.25

 

กรณีต่อมาคือ การระเบิด หรือเจาะผนังถ้ำ ตามมาตรา 16 (4) คือ ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย มีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี หรือปรับสูง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ หากใช้กฎหมายเป็นตัวตั้ง ทุกสิ่งที่เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการอยู่ที่ถ้ำหลวงขณะนี้ ก็สามารถเอาผิดได้ แต่ทั้งนี้ทุกเรื่องล้วนมีทางแก้ อย่างการนำโดรนเข้าไปสำรวจ หรือการเจาะผนังถ้ำ ก็มีบทยกเว้นโทษ ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ อยู่ใน ม. 19 ซึ่งกล่าวว่าไว้ใน ม.16 ไม่ให้นำมาใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติการไปเพื่อความปลอดภัย

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.67 ถ้าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่น พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้น เพราะความผิดของตน ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

จะเห็นได้ว่า กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการได้อยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะมีความผิด ฉะนั้นควรคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของน้องๆ มากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน