X
รถพยาบาลฉุกเฉิน

สจล. คิดค้น 2 นวัตกรรมใหม่ ยกระดับการให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉิน-รถกู้ภัย

สจล. เปิดตัว 2 นวัตกรรมใหม่ “ระบบไฟจราจรอัจฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน” และ “ระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ” ช่วยยกระดับการให้บริการสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉิน-รถกู้ภัย ลดปัญหาผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล เนื่องมาจากการจราจรติดขัดและสภาพผิวพื้นถนนที่มีปัญหา

วันนี้ (18 มิ.ย.61) เมื่อเวลา 10:00 น. ที่ผ่านมา ณ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมด้วย ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา ทีมพัฒนาร่วม iAmbulance และนวัตกรรมระบบไฟฟ้าจราจอัจฉริยะสำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง , ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม หัวหน้าทีมวิจัยระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ตัวแทนเจ้าหน้าที่จากศูนย์นเรนทร และ ศูนย์เอราวัณ

ร่วมกันแถลงข่าว เปิดตัว 2 นวัตกรรม ได้แก่ ระบบไฟจราจรอัจฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และ ระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ ซึ่งได้รับรางวัลประกวดนวัตกรรมระดับโลก ยกระดับความปลอดภัยการให้บริการทางการแพทย์ ป้องกันการสูญเสีย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชน โดย 2 นวัตกรรมดังกล่าวพร้อมเดินหน้าพัฒนาต่อยอดสู่ Big Data เพื่อเป็นข้อมูลชุดใหม่ของระบบการคมนาคมของประเทศ ช่วยแก้ปัญหาในการใช้ชีวิตของประชาชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับมหาภาคสู่การเป็นนครอัจฉริยะหรือ Smart City

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน สถานการณ์ของการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี ทั้งจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากโรคฉุกเฉินที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ทั้งนี้ จากสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พบว่า มีประชากรที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลมากถึงร้อยละ 20 หรือประมาณ 300,000 คน/ปี เนื่องจากปัญหาของการจราจรที่ติดขัด ความรู้ความเข้าใจเรื่องการหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน ตลอดจนสภาพถนนที่มีผลกระทบต่อการให้การขนย้ายผู้ป่วย และการให้การรักษาก่อนถึงโรงพยาบาล 

ขณะเดียวกัน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบตัวเลขการสูญเสียบุคลากรและนักปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยพบว่า มีจำนวนนักปฏิบัติงานที่ได้รับบาดเจ็บสูงถึง 4,315 คน , เสียชีวิต 21 ราย และพิการ 12 ราย จากการที่รถพยาบาลต้องขับรถเร็วและฝ่าไฟแดง เพื่อสู้วิกฤตนาทีชีวิตสำหรับผู้ป่วย ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันท่วงที อาจทำให้เกิดพิการหรือการสูญเสียต่อชีวิตของผู้ประสบเหตุได้ ดังนั้น สถานการณ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นจะต้องได้รับบริการที่เหมาะสม เพื่อจะได้สามารถป้องกันการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อร่างกายทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน

จากเหตุดังกล่าว ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้คิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับการคมนาคม โดยมีรางวัลประกวดนวัตกรรมนานาชาติเป็นเครื่องการันตี ซึ่งเริ่มต้นนำร่องในระบบการให้บริการสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉิน ด้วยระบบไฟจราจรอัจฉริยะอ และระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนน เพื่อช่วยให้การขนส่งผู้ป่วยมีความปลอดภัยสูง รวดเร็ว บูรณาการต่อการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เพื่อตอบสนองต่อการแพทย์ฉุกเฉิน ลดอุบัติเหตุของรถฉุกเฉินและบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในการสัญจรบนท้องถนน พร้อมกันนี้ ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังยังเตรียมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว เพื่อต่อยอดสู่ระบบการคมนาคมในระดับประเทศ สู่การ “นครอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้ (Smart City)” ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการเมืองในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ”

ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา ทีมพัฒนาร่วม iAmbulance และนวัตกรรมระบบไฟฟ้าจราจรอัจฉริยะสำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้พัฒนาระบบจัดการไฟจราจรอัจฉริยะเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุจากการที่รถพยาบาลฉุกเฉินต้องวิ่งฝ่าไฟแดง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และชีวิต ทั้งของผู้ป่วยและนักปฏิบัติการณ์ทางการแพทย์

ปัจจุบันระบบปฏิบัติงานที่พร้อมใช้งานสูงสุดได้แก่ iAmbulance แอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉินทำงานด้วยระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ GPS โดยทำการเทียบตำแหน่งระหว่างรถพยาบาลฉุกเฉินกับรถยนต์คันอื่นๆ ส่งข้อมูลขึ้นสู่ระบบคลาวน์ ซึ่งจะทำการประเมินผลว่ารถฉุกเฉินอยู่ตรงไหนและวัดหาปริมาณกรดใกล้เคียง แล้วส่งสัญญาณภาพหรือสัญญาณเสียงพร้อมทั้งสามารถส่งคำร้องขอให้หลบทางซ้ายหรือขวาไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ขับขี่และยืนบนท้องถนนในเส้นทางที่รถพยาบาลคันดังกล่าวจะต้องเคลื่อนผ่าน

ด้วยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะถูกติดตั้งเข้ากับรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ควบคุมสามารถใช้สื่อสารกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้โดยตรงและเพื่อเป็นตัวสัญญาณระบุตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันติดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของตนเองได้ เพื่อใช้แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินได้ผ่านฟังก์ชั่น SOS และเพื่อใช้รับสัญญาณจากรถพยาบาลฉุกเฉินที่จะต้องขับผ่านเส้นทางที่ตนเองอยู่ได้อีกด้วย”

ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม หัวหน้าทีมวิจัยระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้พัฒนาออกแบบระบบรายงานพื้นผิวถนนอัจฉริยะผ่านแอปพลิเคชัน Road Surface โดยเก็บข้อมูลการสั่นสะเทือนตำแหน่งของหลุมบ่อบนถนน ผ่านแอคเซเลอโรมิเตอร์ หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับการสั่นไหวในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และรวบรวมผลความถี่การเกิดข้อมูลดังกล่าว เพื่อประมวลผลแจ้งต่อไปอย่างแอปพลิเคชันเพื่อใช้เตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้า เกี่ยวกับตำแหน่งพื้นผิวถนนที่มีปัญหาแบบเรียลไทม์ ซึ่งอาจเกิดจากทัศนวิสัยที่บดบังพื้นผิวจราจรน้ำท่วมขังบนถนนตลอดจนใช้ประกอบการวางแผนการเดินทาง

ซึ่งการแสดงผลแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หลุมบ่อระดับเบา (สีเขียว) , หลุมบ่อระดับปานกลาง (สีส้ม) และ หลุมบ่อระดับร้ายแรง (สีแดง) โดยแทนระดับการสั่นไหวด้วยข้อมูลตัวเลข เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องคำนึงอันตรายและแรงกระแทกบนท้องถนน อาทิ สภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการ หลุมบ่อ และทางหลังเต่า เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดผลกระทบแก่ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการขนย้ายแล้ว ในอนาคตยังสามารถต่อยอดข้อมูลดังกล่าวเป็น “Big Data” ในการวางแผนการบำรุงรักษาถนนของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิตของผู้คนที่สัญจรบนท้องถนน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกด้วย”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน