X

มหิดล เสนอเปลี่ยน“เหี้ย”เป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมาย

คณะบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ บรรยายพิเศษ ที่คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) เรื่องเปลี่ยนเหี้ยให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

ในการประชุมวิชาการทันสถานการณ์เหี้ยในประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณะบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “รู้หรือไม่ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนนิยมนำเหี้ยมาเลี้ยงที่บ้านกันเยอะขึ้น”

คำถามคือต่อจากนี้จะทำอย่างไรเพราะเหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ให้มีการล่าเหี้ยไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม แต่สถานการณ์ปัจจุบันหนังเหี้ยมีราคาค่อนข้างจะสูงในต่างประเทศ ทำให้ขณะนี้ก็ยังมีการแอบลักลอบล่าเหี้ยเกิดขึ้น ปัญหาคือหลายคนมองข้ามเรื่องนี้ไป

เพราะมองว่าเหี้ยเป็นสัตว์ที่มีสัญลักษณ์เชิงลบ เช่น ซวย เป็นขโมยล่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน น่ากลัว หรือขยะแขยงเป็นต้น แต่อย่าลืมว่าเหี้ยก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน เหี้ยสามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี ที่ไหนมีเหี้ยจะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้เหี้ยยังเป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอดในการนำไปปรุงอาหารอีกด้วย

อย่างเช่นในประเทศอินโดนีเซียนิยมกินสเต๊กเนื้อเหี้ยเพราะมีความเชื่อว่า ถ้ากินเข้าไปแล้วจะช่วยรักษาโรคผิวหนังได้ และยังสามารถนำไปทำเครื่องใช้ได้อีกด้วย ซึ่งแหล่งที่มาของเหี้ยส่วนใหญ่จะมาจากธรรมชาติ แต่ก็มีเพาะเลี้ยงกันบ้างแล้ว ถ้าจะเปิดให้ถูกกฎหมายอย่างแรกสังคมต้องเปลี่ยนความคิดเสียก่อนว่าเหี้ยไม่ใช่สัตว์ที่น่ารังเกลียด

สังคมจะยอมรับได้ไหม ถ้าหากมีฟาร์มเหี้ยมาเปิดอยู่ใกล้ๆบ้านของตัวเอง ดังนั้นถ้าจะทำเหี้ยให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ จากเดิมที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงต้องพูดถึงเกณฑ์ในการคัดเลือกกันเสียก่อน อาทิสถานภาพในธรรมชาติ ณ ปัจจุบัน มีจำนวนเหี้ยเหลืออยู่เยอะไหม ถ้ามีจำนวนล้นก็สามารถที่จะทำได้ ,ความต้องการทางตลาดเป็นอย่างไร มีความต้องการจริงไหม และจะเกิดประโยชน์แค่ไหนหากแปรรูปเป็นสินค้า

อีกอย่างคือเราจะไปหาพ่อพันธุ์ และแม่พันธ์ุ อย่างถูกกฎหมายได้อย่างไร เพราะตอนนี้กฎหมายก็ยังคุ้มครองห้ามล่าอยู่ สุดท้ายคือถ้าทำไปแล้วมันจะเอื้อกับการอนุรักษ์หรือไม่ จากประเด็นที่กล่าวมามันมีความน่าสนใจตรงที่วันนี้จากสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองห้ามล่า แต่มีคนนำไปเลี้ยงอยู่ที่บ้านแล้ว เพราะอย่างนั้นเหี้ยจะยังควรเป็นสัตว์คุ้มครองอยู่อีกหรือไม่

และตลาดเหี้ยตอนนี้แท้จริงสถานการณ์เป็นอย่างไร เราจะแก้ปัญหาเหี้ยล้นเมืองอย่างถูกกฎหมายและถูกวิธีได้ไหม และพวกเราควรจะศึกษาและวิจัยเหี้ยอย่างไรเพื่อที่จัดการกับเหี้ยได้อย่างถูกวิธี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน