X

รัฐบาลบนเส้นด้าย

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนอยู่บนความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง หลังการเลือกตั้งซ่อม จ.สงขลา-ชุมพร พร้อมกับความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐ

ไม่ใช่แค่พ่ายแพ้ แต่นำมาซึ่ง ‘ความขัดแย้ง แตกแยก’ ภายในพรรคอย่างรุนแรง ถึงขั้นพรรคพลังประชารัฐมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และเพื่อน ส.ส.ในกลุ่มอีก 20 คนพ้นจากสมาชิกพรรค ด้วยข้อกล่าวหาสร้างความขัดแย้งภายในพรรค

ความขัดแย้งอันเกิดจากผลพวงของการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม “เลือก ส.ส.ต้องเลือกคนมีชาติตระกูล และมีตังค์” เป็นวลีในการปราศรัยโค้งสุดท้าย ที่ถูกนำไปขยายผลมากมาย และถูกมองว่าเป็นวลีที่สร้างความพ่ายแพ้ให้พรรคพลังประชารัฐ

น่าจะเป็นวลีที่ทำให้ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ถูกส่งไปดูแลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เสนอให้ทำโพล และมีคำถามชี้นำว่า พรรคพลังประชารัฐตกต่ำ เพราะ ร.อ.ธรรมนัส ใช่หรือไม่

ยังมีข้อกล่าวหาถึงการ ‘ต่อรองตำแหน่ง 2 เก้าอี้รัฐมนตรี’ ให้กลุ่มธรรมนัส ที่หายไปหลังการปลด ‘ธรรมนัส-นฤมล’ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่มีการยืนยัน ไม่มีหลักฐานอะไร และเป็นข้อต่อรองที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะยอมเป็นเบี้ยล่าง

อีกข้อกล่าวหา ตามที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า ร.อ.ธรรมนัส เสนอให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกมากขึ้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จึงไม่ยอม แต่ไม่มีรายละเอียดว่า เสนอปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่อย่างไร ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง ถึงขั้นต้องขับเลขาธิการพรรคและพวก ถึง 21 คนออกจากพรรค

…ในทางการเมือง การขับสมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส.ออกจากพรรค ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ยิ่งเป็นการสร้างความแตกแยกขัดแย้ง ถีบมิตรไปเป็นศัตรู แม้ท่าทีของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะยังไม่ชัดเจนนักว่าจะยืนอยู่ตรงไหน แต่แน่นอนว่า ต้องไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเป็นแน่แท้

เสียงของรัฐบาลที่เคยมีอยู่ 277 เสียง หายไปทันที 21 เสียง จึงเหลืออยู่เพียง 256 เสียง เกินกึ่งหนึ่งไป 5 เสียง ในขณะที่เสียงของฝ่ายค้านที่เคยมี 209 เสียง เพิ่มขึ้นเป็น 230 เสียงทันที

277 เสียงของรัฐบาลที่ผ่านมา สภาก็ล่มแล้วล่มอีก ไม่อาจผ่านกฎหมายสำคัญไปได้มาหลายครั้งแล้ว มาถึงเวลานี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงยืนอยู่บนความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

♦ ความเสี่ยงแรก คือ ความเสี่ยงของการถูกคว่ำร่างพระราชบัญญัติ เมื่อ ส.ส.ที่สนับสนุนรัฐบาลหายไป 21 คน ทำให้จำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่เหลือ มีจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้สถานภาพของรัฐบาลเดินเข้าสู่แดนอันตราย สัญญาณที่ปรากฏในระยะนี้ คือ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มบ่อยครั้ง เพราะองค์ประชุมไม่ครบ คาดว่าการทำงานขับเคลื่อนกฎหมายของรัฐบาลในปี 2565 จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และหากรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าไปในสภาฯ ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกคว่ำได้ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการเงิน และ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน ในกลางปีนี้ (ถ้ารัฐบาลยังอยู่ถึงในเวลานั้น)

♦ ความเสี่ยงที่สอง คือ การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติที่ฝ่ายค้านยื่นไปแล้ว และการถูกลงมติไม่ไว้วางใจ ประมาณเดือนพฤษภาคมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เปิดโอกาสให้กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ร่วมมือกับฝ่ายค้าน เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ได้ หากคะแนนไม่ไว้วางใจมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่อยู่ในสภา พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที

มีความเป็นไปได้ว่า หากมีสัญญาณชัดเจนว่า กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะร่วมมือกับฝ่ายค้านแน่ และทำให้เสียงไม่ไว้วางใจมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาฯ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจชิงยุบสภาฯ เสียก่อนที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ถ้ายื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วจะยุบสภาหนีไม่ได้) อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสอาจวางแผนและแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ตายใจและยอมให้ฝ่ายค้านอภิปราย จากนั้น เมื่อฝ่ายค้านอภิปรายเสร็จสิ้น กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ก็หันไปร่วมมือกับฝ่ายค้าน ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ภายใต้เหตุผลว่า “ข้อมูลฝ่ายค้านมีความหนักแน่นชัดเจนจนทำให้ไม่สามารถไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก”

หากจำนวนคะแนนไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างเจ็บปวดที่สุด เพราะจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ที่พ้นจากตำแหน่งโดยมติไม่ไว้วางใจในสภาฯ 

“นับจากกลางเดือนมกราคมเป็นต้นไป รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีสภาพเหมือนเดินอยู่บนเส้นด้าย ที่พร้อมจะขาดลงไปทันทีเมื่อมีสิ่งใดมากระทบ และดูเหมือนสิ่งที่เข้ามากระทบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ มีความเป็นไปได้สูงว่า ภายใน 6 เดือนนี้ หากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ยุบสภาฯ ก็คงจะถูกไล่ออกกลางสภาฯ แต่ถ้าอยู่รอดไปจนถึงมิถุนายน 2565 ได้ ก็นับว่าเป็นปาฏิหาริย์”

ประเด็นอยู่ที่ว่า พล.อ.ประวิตร จะวางให้ ร.อ.ธรรมนัส อยู่ในฐานะอะไรในพรรคใหม่ คือ พรรคเศรษฐกิจไทย ที่ พล.อ.ประวิตรยกให้ไป และน่าจะส่ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรัก ไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรคพรรค ในแบบ “ขับรถไม่วางมือ”

#มากกว่าข่าว
#นายหัวไทร

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน