X

มาแน่พรุ่งนี้…”ชาวประมง“…จี้รัฐแก้ปัญหาข้อติดขัด “เฉลิมชัย”ลั่นไม่หนีจะรับข้อร้องเรียนเอง…; นายหัวไทร

มาแต่ชาวประมง…จี้รัฐแก้ปัญหาข้อติดขัด “เฉลิมชัย”ลั่นไม่หนีจะรับข้อร้องเรียนเอง…; นายหัวไทร

ผมทราบข่าวว่าพี่น้องชาวประมง (พาณิชย์) 22 จังหวัดชายทะเล ยังไม่พอใจต่อมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา และออกมาชุมนุมในแต่ละจังหวัด

ได้จังหวะพบกับเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สอบถามเรื่องนี้ ยิ่งทราบว่าจะมีชาวประมงมาชุมนุมยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯในวันพรุ่งนี้ จึงต้องรีบเขียนกีอนข่าวสารจะหมดอายุ

“ผมจะรับข้อร้องเรียนของเกษตรกรที่มาชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯ(17 ธันวาคม 2562) ด้วยตัวเอง โดยชาวประมงจาก 22 จังหวัดชายทะเลนั้น จะชี้แจงให้เข้าใจว่ากระทรวงเกษตรฯได้ผ่อนคลายปัญหาต่างๆให้แล้ว ทั้งด้านโครงการเงินกู้สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในการออกทำประมง การพิจารณาเพิ่มวันทำประมง การให้ข้ามฝั่งจากอ่าวไทยไปอันดามันและจากอันดามันไปอ่าวไทยได้ตามฤดูกาล”

รัฐมนตรีเฉลิมชัย ยืนยันว่า ไม่มีการออกกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งใดๆที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ มีแต่การออกกฎหมายลำดับรองที่ส่งเสริมต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง เช่น การจะออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนการปรับปรุงยกร่างกฎหมายประมงนั้น คณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณา

สำหรับการนำเรือประมงขาว-แดงออกนอกระบบ ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ 53 ลำ งบประมาณ 294,850,200 บาท รอการจัดสรรงบประมาณปี 2563 เมื่อได้รับแล้วจะเร่งดำเนินการต่อไป ส่วนโครงการการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ระยะที่ 2 โดยนำเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐและ/หรือมีความประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมง 2,768 ลำ งบประมาณค่าใช้จ่ายในการชดเชยเรือประมง 7,143,847,900 บาทอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

รมว.เกษตรฯ ระบุว่า ปัญหาภาคการประมงนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้งการแก้ปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ในส่วนที่กระทรวงเกษตรฯรับผิดชอบนั้นได้ดำเนินการแล้ว แต่บางเรื่อง เช่น การขาดแคลนแรงงาน กระทรวงเกษตรฯได้ประสานกระทรวงแรงางาน โดยนำเสนอมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งขอความเห็นชอบจากหน่วยงานกระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานทางด้านความมั่นคง เช่น กองทัพเรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงแรงงานได้ให้ความเห็นชอบมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562

ด้านการอำนวยความสะดวกในการซื้อขายน้ำมัน (น้ำมันเขียว) และการบริการ คือ มีเรือ Tanker ที่เข้าร่วมในโครงการประมาณ 50 ลำ จะนำเรือไปจอดทอดสมอเพื่อขายน้ำมันในบริเวณทะเลเขตต่อเนื่องให้แก่เรือประมง ส่วนเรือประมงที่ประสงค์จะเติมน้ำมันเขียวจะต้องได้รับโควตาปริมาณการใช้น้ำมันในแต่ละเที่ยวเรือที่ออกจับปลาในทะเลจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งสมาคมฯจะเป็นผู้ออกรหัส (Code) การเข้าเติมน้ำมันเขียวกับเรือประมง เพื่อเข้าไปเติมน้ำมันจากเรือ Tanker ซึ่งเป็นสถานีบริการนอกชายฝั่งทะเล และจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณความจุของถังน้ำมันใช้การของเรือ

ขณะที่โครงการนำระบบฟรีทการ์ด (Fleet Card) มาใช้ ซึ่งเป็นระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเติมน้ำมัน ทดแทนการออกเป็นรหัส (Code) เพื่อประโยชน์ในการกำกับ ติดตามและบริการการใช้น้ำมัน (เขียว) ให้ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นฐานข้อมูลที่สามารถตรวจสอบปริมาณการใช้น้ำมันได้ตั้งแต่โรงกลั่น เรือ Tanker จนถึง เรือประมง โดยได้มอบหมายให้ผู้แทนจากธนาคารกรุงไทย ได้มาร่วมรับฟังศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาให้ระบบฟรีทการ์ดสามารถใช้เป็นบัตรเครดิตสำหรับเติมน้ำมันเขียวกับเรือประมง ส่วนสมาคมผู้ค้าน้ำมันเรือ Tanker ได้เข้าร่วมประชุมด้วยก็มีท่าทีไม่ขัดข้อง หากธนาคารกรุงไทยสามารถให้เครดิตการชำระหนี้น้ำมันในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสามิตประธานกรรมการโครงการได้ประชุมร่วมกับประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยแล้ว

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศอินโดนีเซีย เพื่อให้เรือประมงไทยเข้าไปหาปลา กำลังคุยถึงรูปแบบ จะเป็นร่วมทุน หรือสัมปทาน ซึ่งปลายเดือนนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯจะเดินทางไปเจรจากับอินโดนีเซียโดยตรงอีกครั้ง คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับสมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) และสมาคมประมงจังหวัดชายทะเล มีมติจะชุมนุมสาธารณะที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาภาคการประมงซึ่งมีหลายประการ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘ม็อบประมง’22จว.ลุกฮือ!บุกศาลากลางจี้นายกฯแก้11ข้อ ฮึ่ม16ธ.ค.ไม่เคลียร์ลุยเข้ากรุง)

แต่ดูเหมือนว่า ความเห็นระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับสมาคมประมงฯยังย้อนแย้งกันอยู่ โดยนายมงคล ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาหน่วยราชการต่างๆได้ออกกฎ ระเบียบ ประกาศและมาตรการต่างๆบังคับใช้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง ตลอดจนธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งที่ปัจจุบันไทยได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU) แล้ว แต่ยังมีการออกกฎ ระเบียบเพิ่มเติมที่สร้างปัญหาใหม่ๆอีก เช่น บังคับให้ชาวประมงชำระค่าน้ำมันผ่านระบบฟรีทการ์ด ซึ่งเป็นระบบเงินสด ในขณะที่ภาคเกษตรอื่นๆ ภาครัฐกลับดูแลอย่างเต็มที่ , เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ไม่ควรมีนโยบายให้ติด , ขอให้กรมประมง กรมจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมายมาตรา 83 แห่ง พรก.การประมง พ.ศ.2558 ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง , เร่งช่วยเหลือด้านเงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการทำประมง ตลอดจนเพิ่มวันทำประมงต่อปี หากไม่แก้ไขผู้ประกอบการหลายรายจะต้องเลิกอาชีพ เพราะประสบกับสภาวะขาดทุนและมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น

นายมงคล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสมาคมประมงจังหวัดได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกร้องให้หน่วยงานราชการต่างๆ เร่งดำเนินการ ดังนี้ หยุดออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงมาเพิ่มเติมขึ้นอีก ยกเว้นการออก กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ผ่อนคลายปัญหาให้กับชาวประมง แก้ไขกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนในช่วงที่มีการประชุมสภานิติบัญญัตินี้ ให้รัฐบาลเร่งซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลมีการตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 นี้ และเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม 2562

จับตาดูพรุ่งนี้ครับ ชาวประมงมาแต่ เจอกันแน่ เพราะรัฐมนตรีเกษตรฯ ยืนยันว่าจะลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง

ด้วยความเคารพ
นายหัวไทร
16 ธันวาคม 2562

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน