X

โรคยางพาราใบร่วง ระบาดหนัก 3 จังหวัดชายแดนใต้ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด กรีดขายก็ไม่คุ้มทุน

โรคใบร่วงในยางพารา ระบาดหนักใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กำลังลามมาสงขลา-ตรัง-สุราษฎร์ธานี เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ขายน้ำยางก็ได้ราคาไม่คุ้มทุน

ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นอกจากจะมีปัญหาความไม่สงบอันเกิดจากคนคิดจะแบ่งแยกดินแดน ซึ่งต่อสู้กันมายาวนานระหว่างคนคิดต่างจากรัฐ กับอำนาจของรัฐไทย 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังมีปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ทั้งฝนตกหนัก น้ำท่วม โดยเฉพาะ อ.สุไหง-โกลก ท่วมไปแล้ว 7 อำเภอ
แต่น้ำท่วมถือเป็นภัยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล หนักบ้างเบาบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละปี แต่ปัญหาที่หนัก คือการแพร่ระบาดของเชื้อราชนิดหนึ่ง ยางพาราใบร่วง ที่เข้ามาระบาดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และแพร่ระบาดไปในอีกหลายจังหวัด ทั้งสงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ฝนตกก็กรีดยางไม่ได้ ยางใบร่วงก็กรีดยางไม่ได้ การที่ยางใบร่วงก็เหมือนยางผลัดใบ น้ำยางจะออกลดลงเหลือแค่ 10% จึงไม่คุ้มที่จะตื่นตีสามตีสี่ออกไปกรีดยาง

ระบุ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “โรคใบร่วง” ระบาดเสียหายแล้ว 500,000 ไร่

นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย ว่า โรคใบร่วงยางพาราได้เกิดระบาดขยายเติบโตไปหลายจังหวัด โดยเฉพาะขณะนี้ สวนยางพาราในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 500,000 ไร่ ที่ได้รับความเสียหาย จะต้องปิดกรีด เพราะหากกรีด จะได้น้ำยางที่ปริมาณน้อยมากเพียง 10%

นอกจากนี้โรคใบร่วงยางพารายังแพร่ระบาดไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา ตรัง และสงขลา ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลาร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรวจสอบและประเมินสถานการณ์

“ขณะนี้มีการระบาดของโรคดังกล่าว ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและตรัง รวม 365,883 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 17 ของเนื้อที่กรีดได้ (ข้อมูลวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562)

สุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง ลงพื้นที่ในเขตภาคใต้บอกว่าโรคใบร่วงยางพารา เกิดจากเชื้อรา สาเหตุคือ Pestalotiopsis sp. โรคใบร่วง Pestalotiopsis sp. พบระบาดรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2559 และระบาดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมเนื้อที่กว่า 2 ล้านไร่ ทั้งนี้ โรคดังกล่าวได้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ.2560 เนื้อที่ประมาณ 1 แสนกว่าไร่ สำหรับประเทศไทยได้พบโรคนี้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2562 ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับประเทศมาเลเซีย

นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง อธิบายว่า เชื้อรา Pestalotiopsis sp. แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมด้านภูมิอากาศในพื้นที่นี้อยู่ในเขตร้อนชื้น และในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน มีความชื้นสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรค จึงทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว

นายสุรชัย ยังกล่าวอีกว่า อาการของโรคปรากฏบนใบแก่ ลักษณะเป็นแผลกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 0.5 เซนติเมตร เริ่มแรกอาการบนใบเป็นรอยสีเหลือง ค่อนข้างกลม และต่อมาจะตายแห้ง เป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยจะพบบนใบมากกว่า 1 แผล และต่อมาใบจะร่วงในที่สุด จะทำให้ใบแก่ร่วงอย่างรุนแรงในยางพาราทุกพันธุ์ โดยเฉพาะสวนยางใหญ่ ทำให้ใบยางร่วงอย่างรุนแรงจนถึงร่วงหมดทั้งต้น ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อต้นยางผลิใบใหม่ พอใบยางแก่เต็มที่ และมีสภาพอากาศที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุ ก็จะทำให้เกิดอาการใบร่วงเช่นเดิมอีก และอาจทำให้กิ่งเล็กๆ แห้งตายได้

การป้องกันกำจัดโรค ใส่ปุ๋ยบำรุงสม่ำเสมอเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ต้นยาง เมื่อเกิดการระบาดของโรคจะทำให้ต้นยางสามารถสร้างใบใหม่ออกมาทดแทนใบยางที่ร่วงได้อย่างรวดเร็ว หากสังเกตเห็นต้นยางมีทรงพุ่มไม่สดชื่น ใบออกเหลือง ให้รีบตรวจสอบอาการของโรคบนใบ และใบยางที่ร่วง หากพบมีอาการของโรคให้รีบใช้สารเคมี เช่น เบโนมิล, แมนโคเซป, สารกลุ่มไตรอะโซล, ไทโอฟาเนต-เมธิล ฉีดพ่นทรงพุ่มให้ทั่วทั้งแปลง โดยใช้เครื่องฉีดพ่นสารเคมีแรงดันสูง หรืออาจใช้เชื้อจุลินทรีย์ เช่น ไตรโคเดอร์มา แต่มีข้อจำกัด คือต้องใช้ซ้ำบ่อยๆ หลายครั้ง

ชาวสวนยางพารานอกจากประสบปัญหาด้านราคาขายน้ำยางได้ราคาไม่คุ้มทุนจนรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือประกันรายได้แล้ว ช่วงนี้ยังเจอฝนตกหนัก และซ้ำร้ายด้วยโรคใบร่วงอีก…หนักแล้วพี่น้องเหอ…!!

ด้วยความเคารพ
นายหัวไทร
2 ธันวาคม 2562

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน