X

ม.44 กระทบทุกหย่อมหญ้า อปท.บางแห่งกอดเก้าอี้มา 7 ปี เลือกตั้งท้องถิ่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ม.44 กระทบทุกหย่อมหญ้า ขยายเวลาเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้บริหารบางแห่งอยู่มา 7 ปีแล้ว ประชาชนไม่มีสิทธิเปลี่ยน เลือกตั้งท้องถิ่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

“มันจะเป็นจะตายหรือย่างไร…ฮะ”

ความพยายามของปิยะบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และสาธิตย์ วงศ์หนองเคย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้สภาฯตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของการใช้ ม.44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น่าจะมีเหตุมีผล รับฟังได้ และเสียงส่วนใหญ่ในสภาก็เห็นด้วย

พูดได้ว่านี้คือการแพ้โหวตของซีกรัฐบาล และวิปรัฐบาลพยายามยื้อให้ให้มีการนับคะแนนใหม่ แต่สุดท้ายไม่ครบองค์ประชุมอยู่ดี เพราะฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย
ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลัวอะไรกับการตรวจสอบผลกระทบจากการใช้ ม.44 ของหัวหน้า คสช. หรือว่าข้อเท็จจริงแล้ว ประชาชนคนไทยได้รับผลกระทบทุกหย่อมหญ้า เพราะยังมีอีกหลายคำสั่งที่มีผลเป็นกฎหมายไปแล้ว แม้บางคำสั่งที่ไม่ทันสมัยจะถูกยกเลิกไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ยังมีอีกหลายคำสั่งที่ยังมีผลบังคับใช้

ยกตัวอย่างคำสั่งห้ามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสภาท้องถิ่น ให้ผู้บริหารชุดเดิม สภาชุดเดินทำหน้าที่ไปก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้ง หรืออย่าง กทม.และเมืองพิเศษอย่างพัทยา หัวหน้า คสช.ก็ใช้อำนาจแต่งตั้งมาเอง และยังทำหน้าที่บริหารอยู่จนทุกวันนี้

พูดกันตรงไปตรงมา คำสั่งหัวหน้า คสช.ตาม ม.44 ได้รับผลกระทบทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะคำสั่งห้ามเลือกท้องถิ่น เพราะท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร (กทม.ก็ครอบคลุมทุกตารางนิ้วของประเทศไทย

ผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่นบางแห่งอยู่ในอำนาจมาร่วม 7 ปีแล้ว เกือบสองสมัย โดยไม่มีการเลือกตั้ง เข้าใจได้ว่าบางแห่งผู้บริหารอาจจะทำหน้าที่ได้ดี เลือกตั้งใหม่ก็ได้กลับมาอีก แต่ท้องถิ่นบางแห่งประชาชนเอือมระอาเต็มที ต้องการเปลี่ยนแปลงก็ทำไม่ได้ อดทนอดกลั้นด้วยความขมขื่นยิ่ง

จริงๆ คสช.ควรจะปลดช็อคท้องถิ่น เปิดให้มีการเลือกตั้ง ก่อน คสช.จะสลายตัวไปตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับโยนภารกิจนี้ไปสู่รัฐบาลหน้า (ซึ่งหมายถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ยังมีนายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.ประยุทธ์ เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ได้เป็นหัวหน้า คสช.เท่านั้น และยังมีรัฐมนตรีมหาดไทย ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กำกับดูแลท้องถิ่นเหมือนเดิม
การไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นประเด็นที่ประชาชนได้รับผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า ใช้สมองน้อยๆที่มีอยู่ก็รู้ โดยไม่ต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาให้สิ้นเปลืองงบประมาณ

เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลจึงยังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในเวลานี้ ทั้งๆที่กฎหมายท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้าตัวแทนรัฐบาลลงไปสัมผัสพื้นที่ก็จะรู้ว่า ประชาชนต่างเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เว้นแต่คนอยู่ในอำนาจบริหารที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง นั่งกินโบนัสจาก คสช.ไปเรื่อยๆยิ่งดี

ในความคิดส่วนตัว และไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ คิดว่า ถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่น จะช่วยในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ ชะลอตัวได้ในระดับหนึ่ง เพราะจะเกิดการหมุนเวียนของเงิน ทั้งค่าถ่ายรูป ค่าโพสเตอร์ ค่ารถแห่ ค่าคัทเอ้าท์ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเลือกตั้งทั้งในส่วนของท้องถิ่นเอง ค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ค่าหัวคะแนน และยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)อีกต่างหาก นี้ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายนอกระบบที่ไม่อาจปฏิเสธได้อยู่แล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีเงินหมุนเวียนทุกหย่อมหญ้า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะดีกว่าโครงการ “ชิม ช้อป ใช้”สองสามเฟสของรัฐบาลด้วยซ้ำ

แต่น้ำเสียงจาก พล.อ.ประยุทธ์ พูดทำนองว่า “มันจะเป็นจะตายหรืออย่างไรกับการไม่ได้เลือกตั้ง บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย งบประมาณก็เป็นปัจจัยที่ต้องคิด เศรษฐกิจเราชะลอตัว” จากคำพูดนี้รัฐบาลชัดเจนว่า จะยังไม่จัดให้มีการเลือกตั้งในเวลานี้

ผมคิดเองว่า รัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นมากกว่า ไม่พร้อมในการสรรหาคนมาลงเลือกตั้ง เอาแค่ กทม.ก่อน จนถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะส่งใครลงชิงผู้ว่าฯกทม. แถมยังดันปล่อยข่าวออกมาด้วยว่า อาจจะดึง “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” ที่ลาออกจากเพื่อไทยมาเตรียมตัวลงสมัครผู้ว่าฯกทม.แบบอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง หรือหลายจังหวัดก็ไม่ลงตัวในการสรรหาผู้สมัครลงชิง นายกฯอบจ. จึงยังไม่ปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น

ถามว่า บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย มันไม่สวยอย่างไร ก็แค่นักการเมืองทะเลาะกันในสภานั่นแหละ ประชาชนอยู่กันอย่างสงบเรียบร้อยดี ส่วนเรื่องงบประมาณ การเลือกตั้งท้องถิ่นใช้งบของท้องถิ่นเอง ไม่ต้องใช้งบของรัฐบาล จะมีก็เฉพาะงบของ กกต.ในการอำนวยการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ของบไว้ 1, 400 ล้านบาท อย่าอ้างว่า พรบ.งบประมาณยังไม่ผ่านสภา ขอให้งบประมาณผ่านสภาก่อน ผมว่านี้มันเป็น “ข้ออ้าง” ของรัฐบาล เพราะงบแค่ 1,400 บาท ใช้งบกลางก็ได้ เป็นงบที่กองไว้ให้นายกรัฐมนตรีใช้ได้อยู่แล้ว เขี่ยออกมาเมื่อไหร่ก็ได้…คิดสิครับ…คิด
ถ้าอ้างว่า พรบ.งบประมาณยังไม่ผ่าน ถ้าเกิดยุบสภากลางปีงบประมาณ ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ ไม่ต้องมีการเลือกตั้งอย่างนั่นหรือ กฎหมายกำหนดไว้แล้วนะครับว่า ยุบสภาให้เลือกตั้งในกี่วัน หมดวาระเลือกตั้งในกี่วัน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่

อย่าคิดว่าประชาชนโง่ ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ มันไม่ใช่อย่างนั้นแล้วครับ โลกการสื่อสารประชาชนศึกษาเรียนรู้ วิเคราะห์เหตุบ้านการเมืองออก นักการเมืองไม่ต้องไปชี้แนะชี้นำ นักการเมืองต่างหากที่ต้องฟังเสียงประชาชน
มันไม่ตายหรอกครับกับการจัดการเลือกตั้ง กับการไปชี้แจงในสภา กับการไปชี้แจงต่อกรรมาธิการคณะต่างๆที่ออกหนังสือเชิญมา มันเป็นระบบตรวจสอบ เป็นการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ นี้คือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย….เข้าใจไหมลุงตู่

ด้วยความเคารพ
นายหัวไทร
1 ธันวาคม 2562

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน