X

แขวงทางหลวงน่าน แจงดรามา หลักลายสอดไส้

แจงดรามาเสาหลักนำทาง (หลักลาย) หลังชาวเน็ตโพสต์แซว สอดไส้ไม้ไผ่ ด้านทางหลวงแจงเป็นเสารุ่นใหม่ใช้ยางพารา

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เกิดกระแสดราม่าเรื่องเสานำทาง หรือเสาหลักลาย ริมทางข้างถนน ในสื่อสังคมออนไลน์ หลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ข้อความ พร้อมภาพประกอบ ในกลุ่ม เล่าขวัญเมืองน่าน ว่า “ขอโทษครับ เช้านี้ขับรถไปทำงาน พอดีปวดฉี่เลยจอดแวะข้างทาง สงสัยผมจะฉี่แรงไปหน่อย หลักลายเลยแตก เลยทำให้ทราบว่า ข้างในมันเป็นแบบนี้นี่เอง 555”

หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อาทิ เป๋าตุงกันเลยทีเดียว/กินแม้กระทั่งเสาหลักลายนะผู้รับเหมา/นี่มันเสาหลักลายของจริงข้างในเป็นเสาของนอกทาสีลายดำขาว/ขอหัวเราะหน่อยพึ่งเคยเห็น/สอดไส้คาลาเมล/เหล็กเส้นในเสารุ่นใหม่เมื่อก่อนเรียกเหล็กปล้องอ้อยเดี๋ยวนี้เรียกเหล็กปล้องไผ่/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบด้วยขับ/ หรือบางท่านโพสต์ข้อความเรียกร้องให้ ปปช.เข้าไปตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวจึงติดต่อขอทราบรายละเอียด เจ้าของโพสต์เพื่อขอทราบข้อมูล จากนั้นลงพื้นที่ตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งข้อมูล บนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1168 สายภูเพียง-แม่จริม ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 10 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 พบเสาหลักนำทาง (หลักลาย) ในช่วงดังกล่าวมีลักษณะแปลกจากปกติ จากการลงไปตรวจสอบพบว่า เป็นเสาหลักนำทาง (หลักลาย) ชนิดใหม่ที่ผลิตโดยใช้ยางพารา โดยหลายต้นได้รับความเสียหายปริแตก หักโค่น และถูกไฟเผา ทำให้เห็นสภาพแกนกลางข้างในว่ามีไม้ไผ่อยู่

จากการลงพื้นที่สำรวจ ประมาณกิโลเมตรที่ 13 เป็นบริเวณที่มีการถ่ายรูปนำมาโพสต์ พบหลักนำทาง (หลักลาย) 1 ต้น มีลักษณะปริแตกและมีไม้ไผ่เป็นแกนกลาง สาเหตุอาจเกิดจากอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน จากการสำรวจพบว่า ระหว่างกิโลเมตรที่ 10-14 มีการใช้เสาหลักนำทางที่ผลิตจากยางพารา จำนวน 260 ต้น เสียหายไป 5 ต้น มีทั้งหักและปริแตก และก็เกิดจากไฟไหม

ทั้งนี้ทางแขวงทางหลวงน่านที่ 1 ชี้แจงว่า เรื่องหลักนำทางสอดใส้ไม้ไผ่ แขวงน่านที่ 1 ได้รับงบประมาณในการจัดชื้อหลักนำทางยางพาราในปี2564 โดยเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราของรัฐบาล ให้นำมาติดตั้งแทนเสาคอนกรีตที่มีอยู่และเพิ่มเติมในส่วนที่ติดตั้งไม่ครบชึ่งเพื่อช่วยเหลือลดการสูญเสียจากการชนและใช้เป็นแนวนำทางในการขับรถไม่ได้ป้องกันรถชนเพราะถ้าชนไม่ว่าเป็นเสาคอนกรีดตหรือเสายางพาราก็กั้นไม่อยู่

ในส่วนที่มีไม้ไผ่ในเสาเพื่อเป็นการช่วยในการติดตั้งให้ไวขึ้นส่วนไม้มันมีการสูญสลายภายในไม่กี่เดือนและแขวงฯ น่านที่ 1 ได้ติดตั้งและได้ตามแบบมาตรฐานของกรมทางหลวง

ด้านคุณ ณัฐพล ยุทธไชย ผู้ขับขี่รถสาธารณะที่ใช้เส้นทางดังกล่าวบ่อย เปิดเผยว่า หลักนำทางลักษณะดังกล่าว รวมทั้งบริเวณดังกล่าวตนเองก็แอบสงสัยอยู่เหมือนกันว่าเสาดังกล่าวมีลักษณะแปลกๆ ก็อยากรู้แต่ก็ไม่ได้ลงไปดู ไม่ทราบเลยว่าทำมาจากยางพาราที่เกษตรปลูก พึ่งรู้เมื่อผู้สื่อข่าวมาสอบถามและขอสัมภาษณ์นี่เอง โดยเห็นด้วยกับการติดตั้งเสานำทางยางพาราบนถนนปกติ แต่ไม่เห็นด้วยกับการไปติดตั้งบนเขาสูงชันหรือพื้นที่บางพื้นที่ เพราะแทนที่เสานำทางโค้งจะเป็นหลักกันภัยไปในตัว หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็จะกลายเป็นว่ารถตกเขาแทน

โดยจากการสอบถามผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคน ให้ข้อมูลว่าไม่เคยทราบเลยว่า มีการใช้ยางพาราผลิตเป็นหลักนำทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และนำมาติดตั้งเพื่อช่วยลดการสูญเสีย เข้าใจมาตลอดว่าเป็นการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เมื่อทราบว่าเป็นอย่างนี้แล้ว ก็เห็นว่าดี เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราไปในตัวด้วย

ด้าน นาย กิตกาน อินยัญญะ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมแขวงทางหลวงน่านที่ 1 ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า จริง ๆ แล้ว ขอเรียนว่า หลักนำทางที่ทั้งกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ในมาติดตั้งในสายทางในความรับผิดชอบ ในแต่ละแขวง โดยเฉพาะแขวงทางหลวงน่านที่ 1 หลักนำทางนี้เราได้รับการออกแบบมาจากส่วนกลาง ให้เป็นหลักกลวง โดยยางพาราที่เอามาใช้ทำหลักนำทาง โดยผู้ผลิตได้บอกว่าใช้น้ำยางพารา 70% ของวัสดุที่มาทำขึ้นรูป

ปัญหาของหลักนำทางชนิดนี้ เนื่องจากเป็นยางพาราจึงมีการเอนอ่อนตัว มันตั้งตรงไม่ได้ ทีนี้การไปติดตั้งเราจะทำอย่างไรให้เป็นหลักตรง ก็ได้คิดหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร คือหนึ่งให้มันประหยัดในเรื่องของวัสดุ หากใช้ปูนเป็นแกนกลางก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งเราไม่มีงบประมาณมากพอที่จะทำตรงนี้ อีกอย่างหากใช้ปูนเป็นแกนกลางก็จะเกิดการแข็งกระด้าง หากเกิดอุบัติเหตุก็จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงเป็นที่มาของการทำอย่างไรให้หลักกลวงตรงนี้ให้มันตั้งตามรูปสมมาตร ตั้งตรงไม่โยกซ้ายโยกขวา หากไปตั้งโดยไม่มีอะไรอยู่ข้างใน ซึ่งได้มีการทดสอบแล้ว แม้กระทั่งแรงลมผ่านหรือรถสิบล้อรถใหญ่วิ่งผ่าน มันก็จะดิ้นไปตามแรงลมที่ปะทะ ปัญหาในตอนกลางวันอาจไม่พบปัญหา แต่ถ้ากลางคืน ถ้าเกิดว่ามันสามารถดิ้นได้หรือแกว่งได้ เป้าสะท้อนแสงมันก็จะไปเกิดแสงแยงตาหรือหลอกตาของผู้ขับขี่ในช่วงกลางคืน

เลยเป็นที่มาของการที่จะทำให้เสาตรงนี้มันตั้งตรงได้ ก็เลยสรุปใช้ไม้ไผ่ตามธรรมชาติเข้าไปสอดไว้ข้างใน เพื่อให้หลักตัวนี้มันตั้งอยู่ได้ โอกาสข้างหน้าหากตัวหลักมันอยู่ในรูปสมมาตรแล้วไม้ไผ่มันก็พุพังเองไปตามธรรมชาติ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้เกิดความสวยงาม ในเรื่องของรูปแบบ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กรณีเกิดอุบัติเหตุรถออกไปนอกคันทาง ไปเฉี่ยวชนหลักนำทาง ทางโค้ง มันจะไม่ได้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทาง เลยเป็นที่มาของการที่เรานำไม่ไผ่ไปสอดไว้ข้างใน ขออธิบายให้ทราบตามนี้

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว กรมทางหลวงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการใช้ยางพาราร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเป้าหมายรัฐบาลให้กรมใช้ยางพาราน้ำ จำนวน 9,000 ตันต่อปี ซึ่งกรมจะใช้ในรูปแบบพาราสลาลี่ซีล และพาราแอสฟัลท์ จำนวน 5% และมีค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2561 ใช้ในการฉาบผิวถนนไปแล้ว 1,000 ตัน อีก 8,000 ตัน หากนำมาใช้แบบเดิมจะมีค่าใช้จ่าย 4,000 ล้านบาท

ทางกรมทางหลวงจึงได้หารือร่วมกับการยาง เปลี่ยนยางพาราน้ำเป็นแผ่น ใช้กับเสาหลักนำทาง ที่กั้นขอบทาง ทางเท้า และหลักกิโลเมตร โดยเสาหลักนำทางใช้ยางประมาณ 15 กิโลเมตรต่อ 1 ต้น งบในการจัดซื้อยางจากงบเหลือจ่ายไม่เกิน 500 ล้านบาท ตั้งเป้าต่อปีใช้ประมาณ 120,000-130,000 ต้นทั่วประเทศ ต้นทุนต่อต้นประมาณ 2,600-2,700 บาท จากเดิมหลักคอนกรีต 800 บาทต่อต้น

ต้นทุนแพงกว่าแต่สามารถช่วยรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรได้มากว่าเดิม นอกจากนี้ ในอนาคตจะขอความร่วมมือการยางฯ ในการวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้ยางพารา เช่น แบริเออร์ก่อสร้างที่ใช้ยางพาราไม่ต่ำกว่า 250 กิโลเมตร ที่กั้นขอบทาง และทางเท้า อีกทั้งยังเตรียมหารือกับกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณให้สามารถบรรจุการซื้อยางพาราในงบประมาณประจำปีด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ลูกเป็ด เฝ้าน่าน