X

น่านลัมปีสกิน ตายแล้ว 2 ป่วยกว่า 150

จังหวัดน่าน สถานการณ์โรคลัมปีสกินในสัตว์ พบป่วยตายแล้ว 2 ตัว และป่วยสะสมกว่า 150 ตัว

 วันที่ 27 มิถุนายน 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคลัมปีสกิน ในสัตว์ ในพื้นที่จังหวัดน่าน พบระบาดแล้วใน 6 อำเภอ อำเภอเมือง อำเภอภูเพียง อำเภอเวียงสา อำเภอแม่จริม อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น พบติดเชื้อสะสม 150 ตัว ตายสะสม 2 ตัว

ด้านปศุสัตว์จังหวัดน่านได้กำหนดมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคตามที่กรมปศุสัตว์มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กษ 0614/15850 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกรณีการระบาดของโรคลัมปีสกิน โดยประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้การสนับสนุนในการป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วน เช่น การจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ ยากำจัดแมลงพาหะ และอื่นๆ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกรณีพบสัตว์ป่วยตายด้วยโรคลัมปีสกิน โดยพิจารณาใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560

รวมทั้งประสานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน เพื่อเสนอผู้ว่าราชจังหวัดน่านประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และให้ปศุสัตว์อำเภอหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกอำเภอลงพื้นที่ เพื่อสำรวจตรวจสอบสัตว์ที่ตายตามความเป็นจริงพร้อมบันทึกภาพและรวบรวมเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการชดเชยกรณีสัตว์ป่วยตายด้วยโรคระบาดสัตว์ชนิดลัมปีสกิน

และขอรับการสนับสนุนยาฆ่าแมลงเพื่อควบคุมโรคลัมปีสกินในโคและกระบือ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านจำนวน 2,000 ลิตร ขณะนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่ ร่วมทั้งได้ขอความอนุเคราะห์ให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ขอรับการสนับสนุนเครื่องพ่นหมอกควันแก่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือร่วมบูรณาการปฏิบัติงานพ่นยาฆ่าแมลงในฟาร์มเลี้ยงโค-กระบือ เพื่อควบคุมป้องกันแมลงพาหะนำโรคลัมปีสกิน ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

ทั้งขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ภาคีเครือข่ายสร้างความรับรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับโรคและวิธีการป้องกันโรคลัมปีสกิน ถ้าเกษตรกรพบสัตว์ป่วยสงสัยโรคลัมปีสกิน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านโดยทันที

 ด้าน นางประนอม หมื่นแปง เกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่พบป่วยเป็นโรคลัมปีสกีน กล่าวว่า วันแรกพบตุ่มในสัตว์ที่ป่วยเพียง 3 ตุ่ม เลยปรึกษากับปศุสัตว์อำเภอนาน้อยคาดว่าอาจแพ้น้ำลายแมลงเพราะในพื้นที่อำเภอนาน้อยยังไม่พบเป็นพื้นที่ระบาด วันที่สองพบสัตว์ตัวที่ป่วยเริ่มมีอาการซึมเอาแต่นอนจึงผิดสังเกตและไม่ยอมกินอาหาร และวันที่สามพบตุ่มขึ้นเป็นผื่นจำนวนเยอะจึงแจ้งปศุสัตว์อำเภอนาน้อย ทางเจ้าหน้าที่ได้ฉีดยารักษาสัตว์ตามอาการพร้อมเจาะเลือดสัตว์ตัวที่ป่วยส่งตรวจยืนยันหาเชื้อลัมปีสกิน และผลเลือดยืนยันพบป่วยเป็นโรคลัมปีสกีน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการพ่นหมอกควัน ปัจจุบันสัตว์มีอาการดีขึ้น

 ด้าน นายอนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านได้พบการระบาดของโรคลัมปีสกินครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 จนถึงปัจจุบันพบสัตว์ป่วยสะสม 150 ตัว มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 65 ราย มีสัตว์ป่วยที่หายแล้ว 91 ตัว และเสียชีวิตสะสม 2 ตัว ในด้านการจัดสรรวัคซีนในการฉีดเพื่อป้องกันโรคลัมปีสกินในสัตว์ ในส่วนของจังหวัดน่านได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกรมปศุสัตว์ 2,440 โดส สามารถฉีดให้สัตว์ได้ 2,440 ตัว ในการพิจารณาพื้นที่และสัตว์ที่จะฉีดวัคซีน โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาคือ โคกระบือที่ได้รับการฉีดวัคซีน ต้องสุขภาพแข็งแรง ไม่มีไข้ ไม่ป่วย จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ผู้ฉีดวัคซีน และมีการจับบังคับด้วยวิธีที่ปลอดภัย ทั้งนี้วัคซีนมีความปลอดภัยสามารถฉีดในโคกระบือที่ตั้งท้องได้ ตามเอกสารแนะนำของผู้ผลิตวัคซีน และอายุของสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะฉีดวัคนจะเป็นไปตามเอกสารแนะนำของผู้ผลิตวัคซีน สำหรับวัคซีน LumpyVax ที่กรมปศุสัตว์นำมาใช้ แนะนำไว้ดังนี้ สำหรับ ลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ให้ฉีดสัตว์ที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป และลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน ฉีดได้ทุกช่วงอายุ

 ด้านนายวรพล รุ่งสิทธิมงคล สารวัตรด่านปศุสัตว์จังหวัดน่าน กล่าวว่า ได้บูรณาการร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดน่านใน 3 ภารกิจ คือ การป้องกันและควบคุมโรค การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ และการบังคับใช้กฎหมายในผู้ที่ฝ่าฝืน โดยด่านปศุสัตว์จังหวัดน่านได้แบ่งชุดเฉพาะกิจออกพ่นยาพ่นหมอกควันพร้อมประชาสัมพันธ์ และแจกแผ่นพับ ให้แก่เกษตรกรตามพื้นที่ที่เกิดโรคระบาด เพื่อเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรได้รู้และเข้าใจในการควบคุมโรคระบาดในสัตว์ ทั้งยังตั้งด่านสกัดกันการเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่ระบาด และในกรณีที่พบการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่ระบาด หรือลักลอบเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จะดำเนินการตามกฎหมายมาตรา 22 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และ/หรือทั้งจำทั้งปรับ

และอยากฝากประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับรู้ว่า ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะโรคลัมปีสกิน เกษตรกรสามารถดูแลป้องกันได้ เช่น ติดไฟไล่แมลง สุมไฟก่อควันไล่แมลง และไม่เป็นพาหะนำเชื้อมาให้สัตว์โดยการออกไปยังพื้นที่ระบาดแล้วนำพาเชื้อมาติดสัตว์

77ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดน่าน รายงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ลูกเป็ด เฝ้าน่าน