X

กรมการแพทย์ สร้างเครือข่ายสุขภาพ ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก จัดการประชุมวิชาการสัญจรในโครงการ วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย ให้กับโรงพยาบาลในเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ นำร่องเขตสุขภาพที่ 1,2 และ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพเครือข่ายที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย

วันนี้ (18 มีนาคม 2564) ที่โรงพยาบาลน่าน นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการเขต 1 เปิดเผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของคนไทย จากรายงานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขในปี 2561 พบว่าอัตราตายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจของจังหวัดน่านเท่ากับ 43.56 คน ต่อแสนประชากร ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เห็นความสำคัญของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้มีแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือดขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม และทันเวลา

ทั้งนี้ จังหวัดน่านตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ 11,472 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 15 อำเภอ 99 ตำบล 918 หมู่บ้าน 28 ชุมชนเมือง ประชากรรวม 480,010 คน ห่างไกลจากจังหวัดที่มีโรงพยาบาลศูนย์ (อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่) ระยะทางกว่า 230 – 350 กิโลเมตร มีชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 277 กิโลเมตร และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามนโยบายเป็นเมืองท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย เพิ่มขึ้นปีละ 12 – 18% เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 97.7% และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ มีการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในอาเซียน (AEC) โดยการเปิดชายแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของภูมิภาค

ทั้งนี้จังหวัดน่านได้มีการเปิดด่านถาวรสากลสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ บ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ มาตั้งแต่ปี 2537 ในปัจจุบันความร่วมมือมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น ประกอบกับจังหวัดน่านยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์  เสด็จพระราชดำเนินมาประทับและปฏิบัติพระราชภารกิจตามโครงการพระราชดำริอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้น “การพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด” เป็นสิ่งที่จำเป็น  เพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ตลอดจนการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือ หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายแพทย์วรินทร์เทพ  เชื้อสำราญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวว่า ในอดีตผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้ยาละลายลิ่มเลือดในจังหวัดน่าน โรงพยาบาลน่านต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลระดับสูงกว่า ซึ่งจากลักษณะภูมิประเทศ ที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยใช้เวลาในการนำส่งผู้ป่วยนานกว่า 4 ชั่วโมงไปยังโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง และ 6 ชั่วโมงไปยังโรงพยาบาลนครพิงค์ หรือโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาช้า กล้ามเนื้อหัวใจไม่ฟื้นคืนสู่สภาพปกติ หรือเสียชีวิต ในระหว่างการนำส่ง

นอกจากนั้นยังมีประชาชนบางส่วนที่เสียโอกาสจากการปฏิเสธการส่งต่อ เนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ และความไม่ คุ้นชินต่อการดำเนินชีวิตในต่างจังหวัด โดยแนวทางมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดแล้วเส้นเลือดเปิด ในปัจจุบันต้องได้รับการตรวจโดยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram : CAG) ระหว่าง 24 – 72 ชั่วโมง จากข้อบ่งชี้ดังกล่าวจึงทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจในจังหวัดน่าน ต้องถูกส่งตัวไปรับการวินิจฉัยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปางมากขึ้น

แพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลน่านมีผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษา และได้รับยาละลายลิ่มเลือด (streptokinase) ร้อยละ 78.9 โดยมีอัตราตายสูงถึง ร้อยละ 15.50 จากการทบทวนพบสาเหตุจากระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก จนกระทั่งมาถึงโรงพยาบาลนานเกินกว่า 3 ชั่วโมง และกลุ่มที่มีความรุนแรงและซับซ้อนของโรคไม่สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในระดับสูงกว่าได้ทันเวลา

และจากสถิติผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในพื้นที่ของจังหวัดน่าน มีสถิติมารับบริการสูงขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2560 จำนวน 310 ราย  2561 จำนวน 354 ราย และ 2562 จำนวน 388 ราย  จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลน่านเล็งเห็นความสำคัญในการเพิ่มการเข้าถึงบริการ และการรักษาที่มีคุณภาพ ของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงมีแผนพัฒนาศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ให้สามารถเปิดห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือดเพื่อการวินิจฉัยรักษา และหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤตหัวใจและหลอดเลือด (Coronary Care Unit) เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในพื้นที่รับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก  กล่าวว่า โครงการ  “10,000 ดวงใจ ปลอดภัย ด้วยพระบารมี” เริ่มในปี 2556 และต่อเนื่องมาเป็นโครงการวิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย  (Save Thais from Heart Diseases)  ตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร  พัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐาน การส่งต่อระบบเครือข่าย โดยการอบรม ให้ความรู้ ผลิตตำรามาตรฐานการรักษา ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว  พัฒนาการบริหารจัดการข้อมูล

โดยจัดตั้งศูนย์กลางดูแล Server โปรแกรม Thai ACS Registry ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายทั่วประเทศ  ตามรูปแบบเครือข่ายการบริการ (Service Plan) ซึ่งจะมีการกำหนดพื้นที่บริการและระบบส่งต่อที่ชัดเจน สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว มีมาตรฐาน โครงการวิกฤตโรคหัวใจฯ มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิด STEMI น้อยกว่าร้อยละ 9  ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว

มีระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ได้รับการรักษาตามมาตรฐานสากล ซึ่งในปี 2563 จากรายงานการบริหารจัดการข้อมูลของโปรแกรม Thai ACS Registry พบว่า สถาบันโรคทรวงอกได้ดำเนินการจัดทำโครงการฯ และรวบรวมข้อมูล ACS เป็นศูนย์ข้อมูลกลางจากโรงพยาบาล จำนวน 714 แห่งทั่วประเทศ   มีจำนวนผู้ป่วย รวมทั้งสิ้น 26,726 ราย เป็นข้อมูลที่สมบูรณ์จำนวน 19,141 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วย STEMI 7,777 ราย คิดเป็น ร้อยละ 40.63 และ NSTEMI & U/A  10,619 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.36 ผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดและเปิดหลอดเลือดการทำบอลลูน (Reperfusion) จำนวน 6,062 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.95 อัตราเสียชีวิตในโรงพยาบาล STEMI  คิดเป็นร้อยละ 10.45
และ NSTEMI คิดเป็นร้อยละ 5.88 ตามลำดับ

ปีงบประมาณ 2564 สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้ดำเนินงานโครงการ วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงจัดประชุมวิชาการสัญจรให้กับโรงพยาบาลในเขต 1, 2 และ 3 โดยโรงพยาบาลน่าน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม มีกิจกรรมการบรรยายทางวิชาการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ ให้ความรู้ด้านวิชาการ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจ ให้แก่แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเพิ่มทักษะ ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ ในการดูแลผู้ป่วยและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

77ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดน่าน รายงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ลูกเป็ด เฝ้าน่าน