X

น่าน ทัวร์ลงวัดดัง (คลิป) แจงปมดรามาต้นโพธิ์งอกไร้คนดูแล

จังหวัดน่าน วัดภูมินทร์ วัดชื่อดังเมืองน่าน ประสานสื่อมวลชน ช่วยชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสังคม ปมดรามาโพสต์วิจารณ์ในโลกโซเชียลวัดปล่อยต้นโพธิ์งอกโผล่ซุ้มประตูอุโบสถ ชี้คอยตอบคำถามญาติโยมให้วุ่น

ข่าววันนี้ น่าน วันที่ 29 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เดินทางไปยัง วัดภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เพื่อตรวจสอบกรณีเกิดปมดรามามีผู้หวังดี โพสต์เผยแพร่ลงสื่อโซเชียลมีเดียรวมทั้งมีการส่งต่อกันตาม กรุ๊ปกลุ่มในแอปพลิเคชั่นไลน์

ปมต้นโพธิ์งอกตรงซุ้มประตูด้านที่วิวสวย ไม่ได้ว่าให้ทางวัดโดยตรงแต่ผลกระทบเกิดโดยตรง เพราะถามทำไมไม่ดูแลขายหน้านักท่องเที่ยว วัดดังไร้คนดูแล

ทางวัดงงทัวร์ลง หลายคนถามสอบถามหลายคนบอก หนักสุดหลายคนตำหนิอยู่วัดไม่ดูแลวัด เกรงลุกลามสร้างความเข้าใจผิดในสังคม ด้วยเหตุชี้แจง หลังมีการสอบถามมายังทางวัดเป็นจำนวนมากมีบางส่วนเข้าใจและบางส่วนไม่เข้าใจ ขอให้สื่อชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง ปัดเปล่านิ่งเฉยไม่ดำเนินการ แต่มีขั้นมีตอน มีระบบระเบียบที่ต้องดำเนินการ ตามกฎหมาย

เหตุอุโบสถทรงจัตุรมุขวัดภูมินทร์หลังดังกล่าว ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานถาวรวัตถุ ที่เป็นสมบัติของชาติ มีพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปะวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคุ้มครองอยู่ โดยทางวัดภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ได้ทำหนังสือแจ้งให้ทางกรมศิลปากรทราบและเข้ามาดำเนินการอยู่ตามขั้นตอน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ค้นคว้าตรวจสอบข้อมูล พบข้อมูลระบุว่าวัดภูมินทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นวัดสำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน มีลักษณะสำคัญคือโบสถ์และวิหารถูกสร้างเป็นอาคารเดียวกัน สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2139 โดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์

เดิมชื่อ วัดพรหมมินทร์ ตามพระนามของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ผู้สร้างวัด สันนิษฐานภายหลังเรียกชื่อเพี้ยนเป็นวัดภูมินทร์ในปัจจุบัน ภาพของวัดภูมินทร์เคยถูกใช้เป็นภาพด้านหลัง ปรากฏบนธนบัตรไทยรุ่นที่ 2 ราคา 1 บาท

พระอุโบสถจตุรมุข เป็นพระอุโบสถที่ประกอบด้วยมุขสี่ด้าน ของวัดแห่งนี้กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า เป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุขที่สร้างขึ้นเป็นหลังแรกในประเทศไทย ภายในพระอุโบสถได้ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกไปทั้งสี่ทิศ ทางด้านประตูทั้งสี่ทิศ และหันเบื้องพระปฤษฏางค์ (หัวไหล่) ชนกันประทับนั่งบนฐานชุกชี ปางมารวิชัย

โดยทางนักโบราณคดีบางส่วนสันนิษฐานว่า เป็นการแสดงถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ ที่ได้บังเกิดขึ้นแล้วบนโลก ตามพระไตรปิฎก คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และพระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)

ในขณะนักโบราณคดีบางส่วน ก็ให้ข้อสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเลียนแบบลักษณะของพระพรหมสี่พักตร์ ซึ่งปรากฏในพระนามของผู้สร้างวัด คือเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ และมีนักโบราณคดีอีกกลุ่ม ได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า เป็นกุสโลบายของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่สื่อถึงหลังธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาคือพรหมวิหาร 4

ตามหลังฐานที่มีการบันทึกไว้ วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อปี พ.ศ.2410 โดยใช้ระยะเวลาในการบูรณะครั้งใหญ่ครั้งนี้รวมเวลากว่า 8 ปี ซึ่งสันนิษฐานว่า ในการบูรณะครั้งนี้ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชได้ทรงมีรับสั่งให้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง (คำเมือง ฮูบแต้ม) ภายในพระอุโบสถจตุรมุข รวมถึงภาพที่มีชื่อเสียง ปู่ม่านย่าม่าน กระซิบรักบันลือโลกของ หนานบัวผัน ที่โด่งดังไปทั่วโลกอีกด้วย

สำหรับอุโบสถองค์ปัจจุบันนี้ มีศิลปกรรมปรากฎเป็นรูปแบบพื้นฐานมาจากการบูรณปฏิสังขรณ์ในช่วงสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ใช้เวลาในการบูรณะยาวนานกว่า 8 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2410 จนบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2417 โดยศิลปะการประดับตกแต่งภายในอุโบสถ เป็นรูปแบบการผสมผสานระหว่าง ศิลปะเมืองน่านและศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์

จากข้อมูลหลักฐานตรงกับปลายรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงค์จักรี ซึ่งในยุคสมัยนั้นเมืองน่านยังมีฐานะเป็นนครรัฐอิสระมีกฎหมายของตนเอง ยังไม่ถูกผนวกรวมและจนภายหลังประเทศไทยยกเลิกการปกครองระบบหัวเมืองและประเทศราชผนวกรวมลดฐานะหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งน่านจนเป็นจังหวัดน่านในปัจจุบัน

อุโบสถวัดภูมินทร์ถือได้เป็นศิลปะที่เป็นโบราณสถาน ถาวรวัตถุที่สำคัญแห่งหนึ่งที่เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความมีอารยธรรมที่วัฒนธรรมที่สืบทอดส่งต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ได้รับการประกาศขึ้นเป็นโบราณสถานเป็นมรดกของชาติ ตามมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอน 10 ลงวันที่ 24 มกราคม 2523

ขึ้นทะเบียนอุโบสถวัดภูมินทร์เป็นโบราณสถานของชาติ ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปะวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2.) พ.ศ.2539

โดยขอยกตัวอย่างบางมาตราที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการดังกล่าวดังนี้ มาตรา 3 โบราณสถาน” หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีทั้งนี้ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดีแหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย”

มาตรา 10 ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดี หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้น กำหนดเงื่อนไขไว้ประการใด ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย

มาตรา 21 ทวิ ในการปฏิบัติหน้าที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณีต้องแสดงบัตรประจําตัวต่อเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานที่ที่ทำการตรวจสอบตามมาตรา 14 ทวิ หรือมาตรา 21 ทวิ และให้เจ้าของ ผู้ครอบครองผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวอํานวยความสะดวกตามสมควร บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา 21 ตรี ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 32 ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 33 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์หรือทำให้สูญหายซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 35 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ในหนังสืออนุญาตตามมาตรา 10 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 37 ตรี ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฉะนั้นจากข้อความที่เกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ ให้ได้ดังใจตนเพราะหากไม่คิดวิเคราะห์อะไรเลยก็แค่เอาบันไดพาดขึ้นไปตัดต้นโพธิ์ที่งอกอยู่มันก็จบ แต่ในความเป็นจริงการขึ้นไปก็ต้องใช้บันได ปีนป่าย และคำว่าอุบัติเหตุคือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานขึ้นมา หรือตัวผู้ทำขึ้นมาโพสต์ข้อความลงบนสื่อต่างๆ ไม่ได้ช่วยให้ออกจากคุก หรือช่วยให้หายบาดเจ็บ

และอีกอย่างปัญหาเรื่องต้นโพธิ์ทางกรมศิลปากรได้ทำการแก้ไขแล้วแต่รากของต้นโพธิ์ได้ชอนไชอยู่ภายในโครงสร้างอุโบสถ หากไปดึงหรือไปตัดแล้วเกิดพังขึ้นมาทั้งหลังใครรับผิดชอบ ด้วยพระเณรหรือทางวัดก็ไม่มีใครได้ศึกษาเล่าเรียนมาทางด้านนี้

ทั้งนี้ทางผู้สื่อข่าวขอสร้างความเข้าใจต่อเรื่องจริง หรือไม่จริงว่า ทางวัดไม่ได้นิ่งนอนใจได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมศิลปากรแล้ว และอาคารอุโบสถของวัดภูมินทร์หลังดังกล่าว มีความเสี่ยงอยู่เดิมแล้วจากการที่มีรากต้นโพธิ์ชอนไชอยู่

เกรงจะกระทบกระเทือนสร้างความเสียหาย และถูกคุ้มครองด้วยกฎหมาย ที่ทางวัดต้องปฏิบัติตามถึงแม้ว่าอาคารดังกล่าวจะตั้งอยู่ในวัด แต่หากละเมิดกฎหมายจำคุกอย่างต่ำก็ 10 ปี ปรับหนึ่งล้านบาท เกรงว่าการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์จะไม่สามารถช่วยอะไรได้ ฉะนั้นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องใดควรศึกษาให้แน่ชัด อย่าหาทัวร์ไปลงวัด

77ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดน่าน รายงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ลูกเป็ด เฝ้าน่าน