X

พะเยาโมเดล (คลิป) กรมน้ำลงพื้นที่เตรียมออกแบบแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน

จังหวัดพะเยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ศึกษาความเหมาะสม สำรวจออกแบบ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนและกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน

ข่าววันนี้ พะเยา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2563 เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา ดร.ประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่สำรวจ พร้อมเป็นประธาน ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมรับทราบปัญหาเรื่องน้ำ ในโครงการงานศึกษาความเหมาะสม สำรวจออกแบบ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนและกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ในพื้นที่ตำบลอ่างทอง ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

โดยชี้แจงกระบวนการศึกษาโครงการและการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำรวมถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งภาครัฐ และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ศึกษาและพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมรับฟังกระบวนการ พร้อมให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งข้อมูลปัญหาในพื้นที่

เพื่อจะได้รวบรวมปรับใช้ในโครงการ อาทิ บางพื้นที่ มีอาณาเขตอยู่ติดกับแนวป่าเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการและประโยชน์ คือการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนและระบบกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ตำบลอ่างทอง ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ในปีงบประมาณ 2563 ทางกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำของแหล่งน้ำทั้ง 2 ตำบล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาทั้งฤดูแล้งก็แล้งจัด ส่วนฤดูฝนก็น้ำท่วมเกือบ 50% ของพื้นที่ ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นจำนวนมากแต่ยังขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

กรมทรัพยากรน้ำได้นำโครงการนี้มานำร่องที่จะศึกษา สำรวจ ออกแบบ ระบบกระจายน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นโครงการต้นแบบ ซึ่งสอดรับกับภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำที่จะบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน

ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 117 ล้านไร่ จากทุกภูมิภาค ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำ นำร่องพื้นที่ ตำบลอ่างทอง ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

โดยกรมทรัพยากรน้ำได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษา (บริษัท จีโอแมพ เซอร์เวย์ จำกัด) ลงพื้นที่เพื่อศึกษา สำรวจ ออกแบบ โครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีรูปแบบในการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการในหลายมิติให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศอย่าง ตำบลน้ำแวน ตำบลอ่างทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แล้งและท่วมในพื้นที่เดียวกัน

ปัจจุบันทั้งสองตำบลนี้มีพื้นที่แหล่งน้ำเพียง 1% ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่โครงการ ทั้งยังพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดินทรายจึงทำให้กักเก็บน้ำได้น้อย ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องน้ำจำเป็นต้องนำระบบอ่างพวง แก้มลิง

ผนวกกับนวัตกรรมเทคโนโลยีในเรื่องการกักเก็บน้ำในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม การจัดเก็บน้ำลงใต้ดิน รวมถึงการเชื่อมโยงแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม การกระจายน้ำ การส่งน้ำขึ้นสู่พื้นที่สูงโดยใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้าช่วย เพื่อประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อนำมาวางแผนและหาแนวทางแก้ไขได้อย่างถูกต้อง ตรงกับความต้องการและส่งผลกระทบด้านลบต่อชุมชนให้น้อยที่สุด

77ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดน่าน รายงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ลูกเป็ด เฝ้าน่าน