X

ยุบโรงเรียนไร้เสียงค้าน ไม่ทำตามโทษสูงสุดไล่ออก

หนาวนี้ ไร้เสียงคัดค้าน ส่งท้ายปีด้วยการเร่งดำเนินการยุบโรงเรียนให้มีผล 1 ม.ค. 63 เพื่อได้สนองนโยบายรัฐบาล หากไม่ทำตามถือว่าผิดวินัยร้ายแรง โทษสูงสุดคือไล่ออก หลายคนได้ผลงาน แต่คุณภาพการศึกษาจะดีขึ้น (จริงหรือ)

ข่าวน่าน วันนี้ 12 มกราคม 2562 เพิ่มเติมแผนดำเนินการ ยุบ ควบ รวม โรงเรียน ตามแผนของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด โดยพบหนังสือสั่งการของ สำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สั่งให้สำรวจข้อมูลเพื่อขอรับงบฯเดินทางรับส่งนักเรียน โดยให้ยุบโรงเรียนตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ข้อความในหนังสือระบุเอาไว้ว่า หากครูไม่ทำตามโทษคือผิดวินัยร้ายแรง โทษสถานหนักคือไล่ออก สถานเบาคือภาคทันฑ์ ข้อความตอนหนึ่งว่า

“สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายและข้อสั่งการของหน่วยงานต้นสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ถือเป็นกฎหมายตามศาลปกครอง เป็นกฎหมายลำดับรองเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คือ คณะรัฐมนตรี หากสำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนราชการไม่ปฏิบัติตาม จะถือว่าขัดต่อมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ที่ระบุว่า “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาลโดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน และไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาลประมาทเลินเล่อ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง” ประกอบกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีหนังสือเน้นย้ำให้ดำเนินการ จึงถืออว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามเนื่องจากเขตพื้นที่จะต้องรายงานผลการดำเนินงานโดยด่วน หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องมีเหตุผลชี้แจงที่สามารถรับฟังได้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการฝ่าผืนระเบียบ

กับเกิดคำถามขึ้นวนเวียนอยู่มากมายในหัวของผู้เขียน และอะไรคือสาระสำคัญที่ไม่ถูกพูดถึงกัน ประเด็นใดที่สังคมยังไม่ถกเถียงกันบ้างในเรื่องนี้ คงเป็นภาพคุ้นตากันดีในทุกเช้า ที่เห็นรถตู้โรงเรียนของเอกชน ออกรับเด็กตามซอกซอยหมู่บ้านต่างๆ เข้าเมืองในตอนเช้า รถเมลส้มหรือรถหวานเย็น หรือรถสองแถวที่รับเด็กจากนอกตัวอำเภอเข้าเมือง รถเหล่านี้กับวิ่งผ่านโรงเรียนขนาดเล็ก ที่กำลังนับถอยหลัง ถูกสั่งให้ยุบในวันที่ 1 มกราคม 2562 อีกไม่วันข้างหน้า

หัวข้อข่าวที่เกี่ยวข้อง

น่านเตรียมยุบโรงเรียนขนาดเล็ก95แห่งภายใน4ปีแผนล่าสุด63-64ยุบ71โรงเรียน

เปิดชื่อโรงเรียนเตรียมเก็บของถูกยุบรวมเลิกปี63

รายชื่อโรงเรียนน่านยุบรวมเลิกปี 64เตรียมนัดศิษย์เก่าร่วมรำลึกความหลัง

ยุบควบรวมปี65มหากาพย์แผนยุบโรงเรียนหลายโรงไม่รอดกว่า44โรง

ปัญหาคุณภาพทางการศึกษา และทุกๆ เรื่องจะไม่ถูกแก้ไข ถ้าเราไม่พูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เพียงคิดแต่ว่าจังหวัดที่ฉันอยู่เติมเต็มด้วยทุ่งดอกลาเวนเดอร์ ภาพฝันดั่งเทพนิยาย จงกล้าและมีสติหยุดเพ้อฝัน และมองในภาพของความเป็นจริง กล้าที่จะยอมรับและแก้ไขหากมีใครไปคุ้ยหยิบยกเอาขยะ หรือสิ่งที่ถูกซุกไว้ใต้พรมขึ้นมาพูดถึง

เหตุผลหนึ่ง ที่มักถูกยกมากล่าวอ้างเสมอ ว่ามีเด็กน้อยลง นั้นคือเหตุผลเดียวจริงๆ หรือ แต่กับอีกแง่มุมหนี่งกับการบริหารจัดการ ที่ทุ่มเทงบประมาณรายหัว ไปกระจุกตัวที่โรงเรียนใหญ่ๆ สร้างแรงดึงดูดผู้ปกครองนำพาเด็กมาเข้าเรียน ทั้งด้วยการสอบแข่งขันเอาเป็นเอาตายและด้วยวิธีการต่างๆ นาๆ เพราะคาดหวังในชื่อเสียงของโรงเรียน เพราะดูจากความพร้อมทั้งงบ และจำนวนครูที่กระจุกตัวกันอยู่ด้วยหรือไม่ที่เป็นสาเหตุให้โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันโรงเรียนขนาดใหญ่กลับสามารถรับเด็กเข้าเรียน จากการดึงดูดผู้ปกครองโดยใช้วิธีการต่างๆ พาเด็กๆ จากพื้นที่ชนบท และรอบนอกมาเรียนอยู่เหมือนเดิม หากเป็นเช่นนี้ไม่นานเราคงจะได้เห็น หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงเรียน

ในความคิดเห็นส่วนตัว แทนที่นโยบาย จะมัวแต่มุ่งยุบแต่โรงเรียนเล็ก สิ่งที่ต้องทำมากกว่า คือ การกำหนดกรอบอัตราสูงสุดของโรงเรียนขนาดใหญ่ และใหญ่พิเศษ ว่าควรรับนักเรียนสูงสุดได้กี่คนในพื้นที่โรงเรียนที่กว้างเท่านี้ ทั้งขอบเขตของชั้นเรียนควรมีได้ชั้นเรียนละกี่ห้อง และห้องเรียนหนึ่งควรมีนักเรียนได้กี่คน เพราะในโรงเรียนขอบเขตการดูแลเด็กนักเรียนให้ทั่วถึง ให้มีคุณภาพชีวิต คุณภาพศึกษา ได้ดีเต็มที่มีได้กี่คน สถานการณ์บางโรงเรียนการมีเด็กล้นห้อง ส่งผลด้านลบต่อคุณภาพศึกษา และการที่เด็กล้นโรงเรียน ก่อให้เกิดทรัพยากรไปกระจุกตัวกัน ที่นโยบายระบุว่า “ไม่ไกลกันมาก รัศมี 6 กิโลยังเดินทางไปถึงได้” เช่นนั้นคงเป็นความผิดพลาดในเชิงนโยบาย ในการบริหารจัดการ ที่ไปส่งเสริมค่านิยมผิดๆ ที่สร้างภาพว่าโรงเรียนใหญ่เท่านั้นจึงจะมีคุณภาพ

การจัดสรรงบประมาณ ที่ใช้แบบจ่ายรายหัวจนทำให้โรงเรียนต้องแข่งกันหาเด็กๆ มาเรียน การใช้มาตรฐานเดียว ในการวัดคุณภาพที่แตกต่างกันในบริบทของสังคม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะตั้งมาตรฐานไว้ให้แต่ละโรงเรียนไปให้ถึงมาตรฐาน โดยความช่วยเหลือจัดสรรงบประมาณของแต่ละโรงเรียนไม่เท่าเทียมกัน การนิยามคุณภาพการศึกษา ที่ชี้วัดเพียงผลการสอบระดับชาติ และการสอบเข้าศึกษาต่อในมหาลัยมีชื่อเสียง รวมทั้งการส่งเสริมความคิดและค่านิยมผิดๆ ที่ว่า การศึกษาคือการลงทุน ใครมีมากก็ลงทุนมาก และมีความชอบธรรมสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตได้มากกว่า ใครมีน้อย ก็ลงทุนเองไม่ได้ อ่อนแอก็แพ้ไป ไปรอคอยความช่วยเหลือ เป็นเงินเศษงบประมาณเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบระเบียบอะไร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ทั้งการบริหารที่ให้ส่วนกลางมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจทุกเรื่อง ทั้งเรื่องที่ควรให้พื้นที่ หรือคนที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ร่วมกันตัดสินใจเอง และสำคัญอย่างยิ่งคือ การไม่มีความมารับผิดรับชอบ ของผู้กำหนดแผนและนโยบาย ในการออกนโยบายที่หากเกิดการผิดพลาด ล้มเหลว สร้างความเสียหาย ในภายภาคหน้า

หลายปีนี้มีการยุบควบรวมโรงเรียนแล้วหลายโรง เวลาก็ผ่านไปไม่เคยปรากฎมี ผลการศึกษาหรือการวิจัยผลกระทบต่อเด็ก ชุมชน ไร้หน่วยงานติดตาม เด็กย้ายไปเรียนปรับตัวได้หรือไม่ และการสนับสนุนการเดินทางมีความต่อเนื่องหรือไม่ และยุบไปแล้ว ใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ทำให้คุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็ก ดีขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร

การนำเสนอข่าวเรื่องยุบโรงเรียนเรียนขนาดเล็กในช่วงไม่กี่วันมานี้ ไม่ได้มีเจตนาค้านหัวชนฝาไม่ให้ยุบ แต่เป็นแรงโต้กลับเพื่อตั้งคำถาม ถกเถียง ถึงความพยายามของส่วนกลางในการกฎหมายกำหนดกรอบเกณฑ์กติกาให้อำนาจส่วนกลางในการตัดสินใจยุบควบรวม ทั้งที่ผ่านมามีการเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่หาทางออกร่วมกัน

แต่ผู้รับสนองนโยบายส่วนกลาง ก็ต้องรับประกันกับชาวให้ได้ว่า จะดูแลลูกหลานของพวกเขาให้เข้าถึงการศึกษาที่ได้มาตรฐาน ได้เข้าถึงคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติในเชิงนโยบายอีก และทอดทิ้งให้โรงเรียนเกือบร้อยแห่ง ครูหลายพันคน และเด็กๆ อีกนับหมื่นคน ต้องอยู่ในภาวะเปราะบาง สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงคุณภาพชีวิตคุณภาพการศึกษา แล้วต้องดิ้นรนเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนแบบเอาเป็นเอาตาย เพื่อให้อยู่ในค่ามาตราฐานเดี่ยวในบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ลูกเป็ด เฝ้าน่าน