X

ทัพเรือภาค3 วางมาตรการสกัดโรฮิงญาทะลักชายฝั่งระนองหลังหมดมรสุม

ทัพเรือภาค3 วางมาตรการสกัดโรฮิงญาทะลักชายฝั่งระนองหลังหมดมรสุม

ระนอง— ทัพเรือภาค3 ประชุมร่วม 17 หน่วยงานความมั่นคงทั้งภาครัฐและเอกชนใน จ.ระนอง งัดแผน “พิทักษ์อันดามัน” สกัดกั้นโรฮิงญาทะลัก หลังพบโรฮิงญาเตรียมจ่อทะลักผ่านไทยเพื่อไปยังประเทศปลายทาง

21 ธ.ค.2561 พลเรือตรีเรวัติ อุบลรัตน์ ผู้บัญชาการกองเรือปฏิบัติการทัพเรือภาคที่3 และรองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เปิดเผยในระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อร่วมประชุมกับหน่วยงานความมั่นคงในจ.ระนอง ณ ศูนย์ประสานงานชายแดนทางทะเลไทย-เมียนมา ตั้งอยู่ ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนองว่า ตนและคณะเดินทางลงพื้นที่ จ.ระนองเพื่อประชุมร่วมกับ จนท.หน่วยงานความมั่นคงทั้ง 17 หน่วยงานใน จ.ระนอง เพื่อร่วมและเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบการลำเลียงยาเสพติดทางทะเล และการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติของกลุ่มชาวมุสลิมโรฮีนจา จากรัฐยะไข่ประเทศเมียนมา ที่ลักลอบอพยพเดินทางออกนอกประเทศผ่านมายังทะเลอันดามันของไทยเพื่อผ่านต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดมาตรการรับมือการอพยพของชาวโรฮีนจา ที่รายงานจากหน่วยข่าวว่าในปีนี้คาดจะมีผู้อพยพเป็นจำนวนมากที่อพยพออกมาและอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเนื่องจากเป็นเส้นทางผ่าน ทั้งยังมีกลุ่มขบวนการนำพาและกลุ่มค้ามนุษย์คอยให้ความช่วยเหลือ
มาตรการการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล หรือกลุ่มชาวโรฮิงญา ที่พบเริ่มทะลักเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้นในระยะนี้หลังหมดห้วงฤดูมรสุม โดยเฉพาะในส่วนของแนวพื้นที่ติดชายทะเลของ จ.ระนองและ จ.พังงา
ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลในประเทศไทย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันมานานนับสิบปี โดยมีการหลบหนีเข้าเมืองด้านจ.ระนอง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 จำนวน 104 คน หลังจากนั้นก็มีการหลบหนีเข้าเมืองเพิ่มขึ้นทุกปี ในห้วงมรสุมสงบประมาณเดือน พ.ย.-เม.ย. โดยจะใช้เรือประมงเก่า เป็นพาหนะ เดินทางจากรัฐยะไข่ซึ่งอยู่ตอนเหนือของพม่า หรือตอนใต้ของบังกลาเทศถึงประเทศไทยระยะทางประมาณ 780 ไมล์ ใช้เวลาประมาณ 15 วัน
ในปีนี้คาดว่าจะยังมีชาวโรฮิงญาอีกจำนวนมาก ที่ยังคงพยายามหาช่องทางที่จะเดินทางมายังประเทศไทย โดยเฉพาะการเข้ามาทางด้านจังหวัดระนองและใกล้เคียง เนื่องจากไม่สามารถทนต่อความอดอยาก และทุกยากในถิ่นที่อยู่เดิมได้อันเป็นผลมาจากการไม่ยอมรับการเป็นพลเมืองของประเทศต้นทาง โดยรูปแบบการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยทราบว่าขณะนี้ทางกลุ่มโรฮิงญาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่นั่งเรือเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นการอพยพขึ้นฝั่งก่อนที่จะถึงประเทศไทย จากนั้นจะพยายามหาช่องทางเล็ดลอดเข้ามาแบบกองทัพมดเพื่อหาทางขึ้นฝั่งไทย โดยมีนายหน้าขบวนการค้ามนุษย์ฝั่งไทยคอยให้การช่วยเหลือ ดังนั้นรูปแบบการสกัดกั้นจะต้องสกัดกั้นทั้งสองทางคือทั้งทางทะเล และบนบก
สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล โดยเฉพาะกลุ่มโรฮิงญา ที่ผ่านมาทาง สมช.ได้มอบหมายให้ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีบูรณาการและประสานการปฏิบัติ โดยแนวทางและมาตรการรับมือการทะลักเข้ามาของชาวโรฮิงญาในปีนี้ได้กำหนดเป็น 2 ขั้นตอนคือขั้นตอนการเตรียมการประกอบด้วย จัดประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการและประสานแผนการปฏิบัติ โดยยึดหลักปฏิบัติตามแผนพิทักษ์อันดามัน1 และแนวทางปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ให้มีผลในทางปฏิบัติจริง
ฝึกจัดตั้งและทบทวนกำลังประชาชน เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการรายงานข่าวสาร และเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ โดยขณะนี้มีกำลังประชาชนที่ได้รับการฝึกแล้วรวม 400 คน กระจายตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลของ จ.ระนอง และเกาะแก่งต่างๆ ,จัดตั้งแหล่งข่าวประมงน้ำลึก ซึ่งทำการประมงในน่านน้ำสากล ทำให้สามารถรับรู้ข่าวสารการเดินทางของผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล หรือชาวโรฮิงญาได้ตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง,ติดตั้งวิทยุสื่อสารประจำเกาะต่างๆ ให้กำลังประชาชนสามารถรายงานข่าวสารการหลบหนีเข้าเมืองได้อย่างรวดเร็ว,จัดหาเรือเร็ว 2 ลำ เพื่อลาดตระเวนน่านน้ำ
สำหรับขั้นการปฏิบัติ เริ่มจากการสกัดกั้นและปฏิเสธการเข้าเมืองทันที โดยได้กำหนดแนวสกัดกั้นตามเส้นทางการหลบหนีเข้าเมืองทางทะเล ตั้งแต่แนวเกาะตาครุฑ,เกาะสินไห,เกาะช้าง,เกาะพยาม,เกาะค้างคาว ซึ่งเป็นเส้นทางหลบหนีเข้าเมืองทางทะเล โดยพยายามใช้วิธีชักจูง โน้มน้าวมิให้ขึ้นฝั่ง และสนับสนุนเสบียง อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม,การควบคุมตรวจสอบ เพื่อสืบหาและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อขบวนการนำพา,การปฏิเสธการเข้าเมือง ด้วยการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง จัดหาเสบียง อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เชื้อเพลิง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เท่าที่จำเป็น เพื่อให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองเดินทางต่อไปได้อย่างน้อย15-20 วัน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระนอง บรรณาธิการ นสพ.เซ้าท์เทิร์นนิวส์ระนอง