X

ระนอง ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

ระนอง ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

จ.ระนอง ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ด้านการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมือง รถไฟเชื่อมท่าเรือ และการขนส่งทางท่อ

วันที่ 17 มกราคม 2565 นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ด้านการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมือง รถไฟเชื่อมท่าเรือ และการขนส่งทางท่อ ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting จาก ห้องประชุมมนัส คอวนิช ชั้น 2 อาคารพหลโยธิน กรมทางหลวง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

การพัฒนา MR-Map มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาประกอบด้วยการใช้เขตทางที่มีอยู่อย่างเต็มที่โดยบูรณาการมอเตอร์เวย์และทางรถไฟร่วมกัน ลดการเวนคืนพื้นที่และการแบ่งแยกชุมชน พัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ ปรับปรุงการเชื่อมต่อโครงข่าย ทั้งมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ เพิ่มความสะดวก คล่องตัว และความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า โดยแยกการจราจรทางไกลออกจากการจราจรในพื้นที่ แก้ปัญหาทางรถไฟในเขตเมืองที่มีความแออัด โดยพัฒนาเส้นทางเลี่ยงเมือง และปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างประเทศของโครงข่ายมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ โดยเน้นการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม  เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม  คำนึงถึงผลกระทบการเวนคืนและการแบ่งแยกชุมชนเป็นหลัก และจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนพร้อมกัน โดยไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับแผนปฎิบัติการของหน่วยงานที่รับผิดชอบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

สำหรับการเชื่อมโยงแนวเส้นทาง MR-Map พิจารณาถึงการการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างภูมิภาคในประเทศ รวมทั้งการเชื่อมต่อโครงข่ายกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต ใน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ จำนวน 3 เส้นทาง รวม 2,620 กิโลเมตร เส้นทางในแนวตะวันออก-ตะวันตกจำนวน 6 เส้นทาง รวม 2,380 กิโลเมตร และเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพฯและปริมณฑล สำหรับเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง เชื่อมการเดินทางและขนส่งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แนวทางเลือกทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง+ทางรถไฟสายใหม่ ช่วงชุมพร-ระนอง (120 กิโลเมตร)

สรุปการคัดเลือกแนวเส้นทางที่ดีที่สุด คือแนวเส้นทางที่ 1 ระยะทางของแนวเส้นทาง(91 กิโลเมตร) ระยะทางพื้นที่อุทยานที่แนวเส้นทางผ่าน (11.49 กิโลเมตร) ระยะทางพื้นที่ป่าสงวนที่แนวเส้นทางผ่าน (30.88 กิโลเมตร) ระยะทางอุโมงค์ ประมาณการ (10 กิโลเมตร)  และพื้นที่อ่อนไหวที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เป็นแนวเส้นทางที่พัฒนาไปยังพื้นที่ใหม่ ซึ่งเป็นการกระจายความเจริญทั้งด้านโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทางเลือกที่ 1

แนวเส้นทางโครงการและรายละเอียดการออกแบบเบื้องต้น จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร จุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง ระยะทาง 91 กิโลเมตร แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ จ.ชุมพร :      อ.หลังสวน และ อ.พะโต๊ะ จ.ระนอง : อ.เมือง รายละเอียดการออกแบบเบื้องต้น เส้นทาง MR8 : แหลมริ่ว-อ่าวอ่าง ประกอบด้วย ด่านเก็บค่าผ่านทาง 3 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 3 แห่ง ศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง สถานที่บริการทางหลวง 1 แห่ง และจุดพักรถ 1 แห่ง

สำหรับเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ทางแยกต่างระดับพร้อมด่านเก็บค่าผ่านทาง บริเวณแหลมริ่ว – บริเวณอ่าวอ่าง ทั้งหมด 3 แห่ง คือ 1.ทางแยกต่างระดับหลังสวน (ตัดกับทางหลวงหมายเลข41) 2.ทางแยกต่างระดับพะโต๊ะ (ตัดกับทางหลวงหมายเลข 4006) และ 3.ทางแยกต่างระดับระนอง (ตัดกับทางหลวงหมายเลข 4) สำหรับโครงข่ายเชื่อมโยงทางถนนเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและท่าเรือฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย การเชื่อมโยงถนนทางหลวงสู่ท่าเรือแหลมริ่ว จ.ชุมพร  การเชื่อมโยงเส้นทาง MR8 สู่ท่าเรือแหลมริ่ว จ.ชุมพร  และการเชื่อมโยงเส้นทาง MR8 เข้าสู่ท่าเรืออ่าวอ่าง จ.ระนอง ซึ่งประกอบด้วยสะพานยกระดับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 6 ช่องจราจร (รวม 2 ทิศทาง) ขนานกับสะพานยกระดับทางรถไฟ สายใหม่จำนวน 3 ราง และ Siding Track 1 ราง มีถนนบริการขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง เพื่อรองรับปริมาณรถทั้งจากทางหลวงสายหลักและถนนชนบทที่จะเข้าสู่ท่าเรืออ่าวอ่าง

การประชุมได้พิจารณากำกับ และติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ด้านการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมือง รถไฟเชื่อมท่าเรือ และการขนส่งทางท่อ ทั้งนี้หากโครงการสำเร็จจะส่งผลให้มีความเจริญในด้านโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม เกิดการจ้างงาน ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนในภาพรวมดีขึ้น//

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระนอง บรรณาธิการ นสพ.เซ้าท์เทิร์นนิวส์ระนอง