X

หอการค้าระนอง ทำยุทธศาสตร์พัฒนา 5 ปีใหม่หวังเคลื่อนการค้า ลงทุน  เกษตร ท่องเที่ยว ฟื้นวิกฤติหลังโควิด-19

หอการค้าระนอง ทำยุทธศาสตร์พัฒนา 5 ปีใหม่หวังเคลื่อนการค้า ลงทุน  เกษตร ท่องเที่ยว ฟื้นวิกฤติหลังโควิด-19

ระนอง-หอการค้าจังหวัดระนอง ตื่นตัวเร่งทำเวิร์คช็อปแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาคเอกชน 5 ปีใหม่หลังวิกฤติโควิด-19 ทำสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง เน้นแผนพัฒนาสู่ความยั่งยืน ใน 3 ยุทธศาสตร์หลักสำคัญประกอบด้วย ด้านการค้าการลงทุน การเกษตรและอาหาร และด้านการท่องเที่ยว

 

ระนอง- นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2563 พร้อมด้วยนายนิตย์  อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง นายพรศักดิ์  แก้วถาวร  เลขาธิการคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง พร้อมด้วยคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง สมาชิกหอการค้าจังหวัดระนองซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 197 ราย ร่วมด้วย คณะกรรมการ YEC Ranong ผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ และสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์

โดยก่อนการประชุมตามวาระ นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้นำเสนอโครงการที่สำคัญของจังหวัดระนอง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด อาทิ การสร้างทางรถไฟเส้นทางชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการนำภาคเอกชนและภาครัฐของจังหวัดระนองไปเจรจาการค้า (Business Matching)

เป็นการสร้างโอกาสและมีลู่ทางทางการค้าการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่เศรษฐกิจหลักของจังหวัดระนองพื้นที่ 520 ไร่ พื้นที่แพใหม่ท่าด่านขอให้ทางรัฐบาลหาทางแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ โครงการยกระดับพัฒนาอาชีพชาวสวนกาแฟสู่ความยั่งยืน เป็นต้น เพื่อให้คณะกรรมการและสมาชิกได้ทราบถึงโครงการที่สำคัญ ๆ และเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด

สำหรับวาระที่ประชุม มีการรายงานผลการดำเนินงานในรอบปี 2563 สมาชิกภาพ การพิจารณางบดุลประจำปี การพิจารณาผู้ตรวจสอบบัญชีหอการค้า ประจำปี กำหนดค่าตอบแทน และปรับปรุงบัญชีส่วนวาระที่สำคัญที่สุดคือวาระที่ 5 เรื่องอื่นๆ ที่ประชุมได้เสนอการเร่งจัดทำยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (2565-2569) หลังวิกฤติโควิด-19 เพื่อเป็นทิศทางให้เหมาะสมสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่ทั้งสองส่วนที่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถที่จะฟื้นที่จากผลกระทบจากวิกฤติโควิดได้

นายธีระพลกล่าวต่อว่า ทางภาคเอกชนจังหวัดระนอง โดยหอการค้าจังหวัดระนอง จึงได้เร่งจัดทำยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีของเอกชนใหม่หลังเจอวิกฤติโควิด-19 ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในแต่ละส่วนเนื่องจากทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามแบบเดิมอีกแล้ว ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สำหรับทิศทางที่กำหนดในการทำWORK  SHOP ร่วมกันใน 3 ด้านสำคัญ ประกอบด้วยด้านการค้าลงทุน ด้านเกษตรและอาหาร และด้านการท่องเที่ยว

โดยทั้งหมดจะต้องสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันกับทิศทางการพัฒนาของจังหวัดระนอง ที่กำหนดเป้าหมาย “เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย”  ส่วนประเด็นการพัฒนาของจังหวัดประกอบด้วย 4 ด้านสำคัญ 1.ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพเชื่อมโยงในอาเซียน 2.ส่งเสริมภาคการเกษตรครบวงจร3.เสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 4.ส่งเสริมและพัฒนาการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน

นายพรศักดิ์  แก้วถาวร  เลขาธิการหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า สัดส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.3  เร่งตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2560 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดระนอง (GPP) มีมูลค่าเท่ากับ 28,014 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2561) ประกอบด้วยการผลิตภาคการเกษตร มีมูลค่าเท่ากับ 11,474 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.2 การผลิตอุตสาหกรรมมีมูลค่าเท่ากับ 2,588 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.1  และการผลิตภาคบริการมีมูลค่าเท่ากับ 13,952  ล้านบาท คิดเป็น 50.7  มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรจำนวน 102,966 บาทต่อคน   มีสาขาการผลิต 5 อันดับแรกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดระนองพบว่า เศรษฐกิจของจังหวัดระนองขึ้นอยู่กับ 1.สาขาเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง 2.สาขาการขายส่งและการขายปลีก3.สาขาการขนส่งและสถานที่จัดเก็บสินค้า 4.สาขาการผลิตอุตสาหกรรม 5.สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย

นายพรศักดิ์กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากวิกฤติโควิด—19  ยังไม่ทราบว่าตัวเลขแต่ละส่วนจะหายไปมากน้อยเท่าไหร่ ในขณะที่สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปและยากที่จะกลับมาเช่นเดิม การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเดิมก็จะไม่เกิดผลดีต่อไป มีแต่จะส่งผลให้ตัวเลข GPP มีแนวโน้มลดลง ดังนั้นหากต้องการให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเติบโตขึ้นหรือคงไว้ในระดับเดิม 28,014 ล้านบาท ในแต่ละปี จะต้องมีการกลับมาวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสและอุปสรรคต่างๆในแต่ละด้าน เพื่อที่จะจัดทำแผนพัฒนาเชิงรุกที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และเป็นแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดอย่างแท้จริง เพราะในสถานการณ์เช่นนี้การทำงานแบบตัวใครตัวมันไม่สามารถที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ที่วิกฤติในขณะนี้ได้อย่างแน่นอน

นายนิตย์   อุ่ยเต็กเค่ง  รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า หลังจากที่การทำ WORK  SHOP ของคณะกรรมการหอการค้า โดยเริ่มจากการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค ในแต่ละยุทธศาสตร์ใน 3 ส่วนคือด้านการลงทุน ด้านการเกษตร และด้านการท่องเที่ยว ก็จะเร่งนำส่งแผนงานยุทธศาสตร์ของภาคเอกชนไปยังจังหวัดเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับจังหวัดในการนำไปประกอบใช้ทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดระนองฉบับใหม่ (2565-2569) ต่อไป   ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือต้องเป็นแผนพัฒนาที่เน้นสู่ความยั่งยืน

สำหรับกรอบแนวทางการพัฒนาในแต่ละยุทธศาสตร์อาทิ ประเด็นการพัฒนาส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพเชื่อมโยงในอาเซียน วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้น โดยแนวทางการพัฒนาคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยว พัฒนายกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและแพทย์แผนไทย ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาดการท่องเที่ยว

ประเด็นการพัฒนาการส่งเสริมเกษตรครบวงจร  วัตถุประสงค์ ผลักดันให้สินค้าเกษตรแปรรูปและผลิตภัณฑ์ชุมชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น  แนวทางการพัฒนา สนับสนุนและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรคุณภาพสูง ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น

ประเด็นการพัฒนาการส่งเสริมพัฒนาการค้า การลงทุน การค้าชายแดน ตัวชี้วัดมีมูลค่าการค้าชายแดนไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านบาทต่อปี  แนวทางพัฒนาคือการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน การปรับปรุงช่องทางผ่านแดน การลดขั้นตอนและความร่วมมือของทั้งสองประเทศ

ส่วนประเด็นการพัฒนาในยุทธศาสตร์ต่อเนื่องที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป ประกอบด้วยโครงการรถไฟสายระนอง-ชุมพร  มีความคืบหน้าในปัจจุบันได้มีการตั้งแผนการศึกษาในเชิงวิศวกรรม คาดว่าในปี 2568  จะเริ่มเห็นเค้าโครงร่างของเส้นทางรถไฟที่ชัดเจนมากขึ้น  ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบการขนส่งสินค้าจากอ่าวไทยสู่อันดามัน  และสามารถเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารได้อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หอการค้าได้ร่วมผลักดันมาโดยตลอด

โครงการถนน 4 ช่องทางจราจร   การผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ท่าเรือประภาคารเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว  การแก้ไขปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินที่ย่านพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของ จ.ระนอง ที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคที่สำคัญที่ส่งผลให้ไม่สามารถเดินหน้าพัฒนาตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ การใช้ประโยชน์จากท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวท่าเรือต้นสนที่สามารถรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวทางทะเลได้  โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนกาแฟสู่ความยั่งยืนของจังหวัดระนอง

 

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระนอง บรรณาธิการ นสพ.เซ้าท์เทิร์นนิวส์ระนอง