X

ระนอง ตรวจสอบเรือประมง ป้องกันดัดแปลงขนโรฮิงญาช่วงหลังมรสุม

ระนอง ตรวจสอบเรือประมง ป้องกันดัดแปลงขนโรฮิงญาช่วงหลังมรสุม

ระนอง— นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่าทางจังหวัดระนองโดยฝ่ายปกครอง ร่วมกับ กอรมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 ,เจ้าหน้าที่ทหารชุดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี,เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเลไทย-พม่า(ศปชล.),เจ้าหน้าที่เจ้าท่าส่วนภูมิภาคที่ 5 จ.ระนอง ได้กำหนดแผนการสนธิกำลังลาดตระเวนเฝ้าระวังน่านน้ำทะเลอันดามันด้าน จ.ระนอง เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นเรือประมงขนาดใหญ่ที่แอบดัดแปลงเพื่อใช้ลักลอบขนชาวโรฮิงญาจากน่านน้ำประเทศเมียนมาร์ และบังกลาเทศเข้ามายังน่านน้ำไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังหมดฤดูมรสุมที่มักมีชาวโรฮิงญาอพยพมายังประเทศไทย เพื่อเดินทางต่อไปยังพื้นที่เป้าหมาย

แม้ว่าปัจจุบันทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเข้มงวดกับเรือประมงที่ต้องมีการแจ้งเข้าออกในการทำประมง แต่ต้องยอมรับว่าขบวนการค้ามนุษย์ยังไม่ได้หมดไปในทันที ยังคงมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาด้วยผลประโยชน์ที่มีมหาศาล เจ้าหน้าที่จึงต้องไม่ประมาทและต้องไม่ลดละที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะสถานการณ์ของชาวโรฮิงญาที่ปัจจุบันพบมีปัจจัยเอื้ออำนวยและส่งผลที่จะให้เกิดการอพยพเดินทางมายังน่านน้ำประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม โดยใช้เครือข่ายการค้ามนุษย์เป็นตัวเชื่อม โดยเรือประมงที่ดัดแปลงและออกทะเลโดยไม่ทำประมงจะสังเกตุง่ายที่บริเวณด้านหน้าของเรือจะไม่มีเสากระโดงสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ทำการประมง โดยนอกจากไม่มีอุปกรณ์จับปลา แล้วยังไม่พบสัตว์น้ำ ไม่มีห้องทำความเย็นที่ใช้เก็บสัตว์น้ำ และยังพบว่ามีถังบรรจุน้ำบริเวณท้ายเรือเป็นจำนวนมาก เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบภายในเรือพบมีช่องทางเข้าออกอยู่บริเวณตรงกลางลำเรือในลักษณะเป็นช่องลับเชื่อมต่อลงไปด้านล่าง โดยเรือแต่ละลำมีห้องขนาดใหญ่บรรจุชาวโรฮิงญาได้ไม่ต่ำกว่า 300 คน ต่อลำ

ส่วนแนวทางการปฏิบัติต่อผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญากำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในการดำเนินการแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วยขั้นตอนการสกัดกั้น ยับยั้ง และแนวโน้ม ทำการลาดตระเวนทางเรือและใช้เครือข่ายกำลังภาคประชาชนแจ้งข่าวสารเพื่อสารป้องกันมิให้หลบหนีเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงประสงค์มากที่สุด

ขั้นตอนการควบคุมตรวจสอบ เป็นการสืบหาข้อเท็จจริง บันทึกสถิติ ควบคุมโรคติดต่อ โดยกระทำเท่าที่จำเป็น และให้การช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างเพื่อนมนุษย์ตามหลักมนุษยธรรม ,ขั้นตอนการปฏิเสธเข้าเมืองและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แบ่งเป็น 2 ขั้นย่อย คือขั้นการปฏิเสธการเข้าเมือง ด้วยการจัดหาเสบียง น้ำดื่ม ยารักษาโรค น้ำมันเชื้อเพลิง เรือยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองเดินทางต่อไปได้อย่างน้อย 15 วัน ,ขั้นตอนการอำนวยความสะดวก จัดเรือปฏิบัติการ อำนวยความสะดวกในการเดินทางจนถึงปลายทาง ซึ่งเป็นน่านน้ำสากลเพื่อป้องกันการหลบหนีขึ้นฝั่ง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระนอง บรรณาธิการ นสพ.เซ้าท์เทิร์นนิวส์ระนอง