X

กรมทรัพยากรน้ำ สำรวจ ออกแบบ เตรียมพร้อม เร่งรัด “สถานีสูบน้ำด้วยพลังแสงอาทิตย์จากแหล่งน้ำต้นทุนเขื่อนสิริกิติ์” แก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ตำบลท่าแฝก-อุตรดิตถ์

ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ท่าแฝก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าฯจ.อุตรดิตถ์เป็นประธานเปิดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการสำรวจออกแบบเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำตำบลท่าแฝก โดย น.ส.ทิพวรรณ ขันทอง วิศวกรโยธาชำนาญการ กองพัฒนาแหล่งน้ำ 1 กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ โดยมี ดร.ประยุทธ ไกรปราบ ผอ.กองพัฒนาแหล่งน้ำ 1 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้ง จนท.จากกรมทรัพยากรน้ำ , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(เขื่อนสิริกิติ์), สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุตรดิตถ์ และ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ,นายรูม อินแจ้ นายก อบต.ท่าแฝก และ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนพี่น้องประชาชนตำบลท่าแฝก จำนวน 150 คน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ดร.ประยุทธ ไกรปราบ ผอ.กองพัฒนาแหล่งน้ำ 1 กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจาก เมื่อปี 2564 นายศักดิ์นรินทร์ ปิ่นน้อย ตัวแทนราษฎรหมู่ 1 และหมู่ 2 ตำบลท่าแฝก มีหนังสือขอกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม โดยกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้ ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับราษฎรในกรณีดังกล่าว

“กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่สำรวจพร้อมชี้แจ้งให้ราษฎรทราบว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เหมาะสม เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ และโครงการอ่างเก็บน้ำสามารถใช้ประโยชน์ได้เพียงหมู่ 1 และ 2 ต.ท่าแฝกเท่านั้น  และต้องมีการศึกษาผลกระทบของโครงการก่อนดำเนินงานก่อสร้าง จากการพิจารณารูปแบบโครงการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสภาพพื้นที่ พบว่า เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ควรดำเนินการ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยพลังแสงอาทิตย์จากแหล่งน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีบ้านงอมมด ระยะที่ 1 งบประมาณ 826.23 ล้านบาท ระยะที่ 2  งบประมาณ 556.64 ล้านบาท และ สถานีบ้านวังน้ำต้น งบประมาณ 658.57 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 2,041.44 ล้านบาท โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้ลงทะเบียนขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านระบบ Thai Water Plan ปีงบประมาณ 2567- 2569 ไว้เรียบร้อยแล้ว”

ดร.ประยุทธ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นแห่งแรกที่ดำเนินงานที่ดิน คทช.ซึ่งประชาชนตำบลท่าแฝกต่างเสียสละที่ดินเพื่อวางท่อและก่อสร้างสถานที่เก็บกักน้ำ เกือบ 100 ไร่ เนื่องจากเป็นโครงการยกน้ำขึ้นที่สูง จึงลดขั้นตอนต่างๆได้ และประโยชน์ของโครงการฯ นอกจากการก่อสร้างระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ในพื้นที่ตำบลท่าแฝก มีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับประโยชน์ 12,416 ไร่  1,426 ครัวเรือน สามารถสูบน้ำมาใช้ในพื้นที่โครงการได้เฉลี่ย 6.86 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และยังเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่า เพื่อการรักษาระบบนิเวศ ลดผลกระทบจากไฟป่า กว่า 3,700 ไร่ นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงการสอดรับกับหลักบันได 3 ขั้น คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และก้าวสู่ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามโครงการการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ทดแทนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้ผ่านการประชุมสร้างความเข้าใจ กับผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งผู้ถวายฎีกา และขออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างโครงการตามระเบียบและกฎหมายควบคู่ไปด้วย สำหรับประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการสำรวจออกแบบเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำตำบลท่าแฝกในครั้งนี้ เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการ นำเสนอผลการศึกษาพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ตำบลท่าแฝก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงมาแล้ว 2 ครั้ง

นายศักดิ์นรินทร์ ปิ่นน้อย ตัวแทนราษฎรตำบลท่าแฝก กล่าวว่ารู้สึกดีใจ หากโครงการดำเนินการก่อสร้างตามกำหนดคือปี 2567-2569 ระยะเวลา 3 ปีได้จริง ชาวตำบลท่าแฝกก็จะมีน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร ทั้งนี้ส่วนหนึ่งหนีน้ำมาอดน้ำ จากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ และอีกส่วนหนึ่งคือชุมชนดั้งเดิมตั้งถิ่นฐานปี 2300 และเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำซ้ำซาก จึงวิงวอนไปยังรัฐบาล ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

บุญพิมพ์ ใบยา

บุญพิมพ์ ใบยา

ผู้สื่อข่าวพิเศษ ช่อง 9 อสทม.สำนักข่าวไทย ,เนชั่น,workpoint tv ช่อง 23 ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์