X

ศวพ.อุตรดิตถ์ รณรงค์เกษตรกร “ปลูกหอมแดงพืชปลอดภัย”

ที่ลานเอนกประสงค์วัดโพธิ์ล้อม ต.ชัยจุมพล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ดร.สมบัติ  ตงเต๊า  ผอ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 เป็นประธานเปิดงาน  “รวมพล คนจริง ทิ้งสารเคมี ผลิตหอมแดงได้ดีกว่าที่คิด” ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ โดยนายเสกสรรค์  วรรณกรี  ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย รักษาการในตำแหน่ง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จัดฐานเรียนรู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงและหอมแบ่ง อ.ลับแลกว่า 200 คน เพื่อเป็นเกษตรกรแกนนำ ปลูกหอมแดงคุณภาพผลิตพืชปลอดภัย ตามนโยบายของ น.ส.มนัญญา  ไทยเศรษฐ์ รมต.ช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกร อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ได้มอบนโยบายให้จังหวัดอุตรดิตถ์ดำเนินงานเกี่ยวกับการผลิตพืชปลอดภัย โดยเฉพาะหอมแดง ซึ่งเป็นพืชที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตสูง และจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งผลิตหอมแดงที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูก 1 หมื่นไร่ สร้างรายได้ร่วม 100 ล้านบาท

ผอ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กล่าวว่า จากนโยบายของ  น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมต.ช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องผลิตพืชปลอดภัย ซึ่งนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการผลิตพืชปลอดภัย จึงมอบหมายให้จังหวัดอุตรดิตถ์ เร่งให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้ชีวภัณฑ์ ทดแทนการใช้สารเคมี โดยเฉพาะหอมแดง เพื่อให้กระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีให้น้อยลง จากการสำรวจพบว่าอำเภอที่ปลูกหอมแดงมากที่สุดของจังหวัดอุตรดิตถ์คือ อำเภอน้ำปาด และอำเภอลับแล กว่า 1 หมื่นไร่ โดยเกษตรกรแบ่งการปลูกหอมออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 เดือนกันยายน-ตุลาคม เรียกว่าหอมฝน ช่วงที่ 2 เดือนมกราคม-มีนาคม เรียกว่าหอมแล้ง ซึ่งเกษตรกร มีการใช้สารเคมีสำหรับกำจัดศัตรูหอมในปริมาณมาก

ดังนั้นก่อนที่เกษตรกรลงมือปลูกหอมแดงช่วงแล้งนี้  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ จึงเน้นการให้ความรู้และกระบวนการปลูกหอมแดงให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีและเพิ่มช่องทางวิธีปลูกหอมแดงคุณภาพและปลอดภัย ประสาน จนท.วิทยากร จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ มาร่วมให้ความรู้กับเกษตร   เกษตรกรเกี่ยวกับการผลิตหอมแดงให้มีคุณภาพด้วยการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช และการจัดการธาตุอาหารอย่างถูกวิธี ผ่านฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 5 ฐาน คือ 1. การใช้ปุ๋ยถูกต้อง ใช้ปุ๋ยถูกเวลาลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต หอมได้แน่ 2. การใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคหอมไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด 3. ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูหอมได้แน่ ไม่แพ้สารเคมี  4. การปรับชนิดสาร ปรับกลุ่มสารเคมี และปรับวิธีการใช้สารใหม่ ช่วยลดต้นทุน ลดการดื้อยา และลดความเสี่ยงสุขภาพได้ 5. เข้าใจโรค แมลง รู้ทันสภาพแวดล้อม แค่นี้ก็ลดการใช้สารเคมีได้ ซึ่งเป็นการ “รวมพล คนจริง ทิ้งสารเคมี ผลิตหอมแดงได้ดีกว่าที่คิด”เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตร มีคุณภาพดี และมีกระบวนการรับรองมาตรฐานพืชที่มีมาตรฐานระดับสากลและเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการพืชอาหารปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

บุญพิมพ์ ใบยา

บุญพิมพ์ ใบยา

ผู้สื่อข่าวพิเศษ ช่อง 9 อสทม.สำนักข่าวไทย ,เนชั่น,workpoint tv ช่อง 23 ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์