X

ไม่พึ่งรัฐวิชาการ!!! เอกชนระดมทุนให้นศ.ผลิตเครื่องวัดฝุ่นหวังครบทุกหมู่บ้าน

เชียงราย-สภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย หอการค้า จ.เชียงราย ชมรมธนาคารเชียงราย กลุ่มจิตอาสาวิจัยและพัฒนาพลังงานเพื่อการจัดการภัยพิบัติ องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย โครงการยักษ์ขาววัดฝุ่น ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือเอ็มโอยูการเป็นเครือข่าย ร่วมมือกันผลิตเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก

วันที่ 29 ส.ค.2562  ที่ห้องประชุม หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) โครงการจิตอาสาการผลิตเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็กมอบโรงเรียนในพื้นที่ จ.เชียงราย โดย มร.ชร.และมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาเชียงราย สภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย หอการค้า จ.เชียงราย ชมรมธนาคารเชียงราย กลุ่มจิตอาสาวิจัยและพัฒนาพลังงานเพื่อการจัดการภัยพิบัติ องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย โครงการยักษ์ขาววัดฝุ่น ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือเอ็มโอยูการเป็นเครือข่ายโครงการดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ดังกล่าวร่วมลงนามครบครัน เช่น ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดี มร.ชร.นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย นายมงคลชัย ดวงแสงทอง หัวหน้าโครงการยักษ์ขาววัดฝุ่น นายฉัตรชัย พัฒนานุภาพ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย นายสมชาย อนุภาพวิเศษกุล ประธานชมรมธนาคารเชียงราย ฯลฯโดยเนื้อหาของเอ็มโอยูเพื่อร่วมมือกันผลิตเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็กโดยร่วมมือด้านเงินทุนด้วยการระดมทุนจากภาคเอกชนและในส่วนของสถานศึกษาก็จะให้บริการด้านวิชาการและการวิจัยร่วมกัน เบื้องต้นกำหนดให้มีการผลิตออกมาจำนวน 50 เครื่อง เพื่อนำไปมอบให้กับโรงเรียนต่างๆ ตามกลุ่มเป้าหมายของแต่ละอำเภอเบื้องต้นมอบให้กับทางโรงเรียนบ้านผาเดื่อ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง พร้อมกับทุนการศึกษาเพื่อให้นำไปติดตั้งสำหรับวัดค่าฝุ่นละอองและหมอกควันโดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือพีเอ็ม 2.5

รศ.ดร.ศรชัย กล่าวว่าสถานการณ์การเกิดฝุ่นละอองและหมอกควันช่วงต้นปี 2562 นี้ถือว่ารุนแรงและเข้าขึ้นวิกฤติในรอบหลายสิบปีดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของ จ.เชียงราย ไม่เฉพาะแต่เพียงภาครัฐจะได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลอย่างเต็มที่ ซึ่งโครงการเอ็มโอยูครั้งนี้ถือเป็นการนำร่องที่ดีโดยทาง มร.ชร.เองพร้อมที่จะร่วมกับทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหานี้

นายมงคลชัย กล่าวว่าวิกฤติช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมาทำให้มีผู้ป่วยวันละกว่า 2,000 คน และยังไม่ทราบผลกระทบในระยะยาวโดยเฉพาะต่อเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีผลการวิจัยที่ชัดเจนในเรื่องนี้ รวมยังทำให้ผืนป่าเสียหายกว่า 200,000-300,000 ไร่จากทั้งหมดที่มีในเชียงรายประมาณ 7 ล้านไร่ ดังนั้นการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อวัดค่าปริมาณฝุ่นละอองและหมอกควันให้ครอบคลุมทุกพื้นที่นอกเหนือจากที่กรมควบคุมมลพิษติดตั้งไว้ที่ อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย จำนวน 2 จุดจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงหรือเรียลไทม์ในทุกพื้นที่โดยเป้าหมายเบื้องต้นของเราคือติดตั้งในทุกตำบลจำนวน 125 ตำบลของ จ.เชียงราย และหากได้ 1,751 หมู่บ้านทั่วจังหวัดในอนาคตได้ก็ยิ่งดี เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะได้ใช้พยากรณ์ทิศทางการเกิดและหน่วยงานด้านการดับไฟหรือแก้ไขปัญหา เช่น จัดจุดที่พักสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ นักเรียน การเข้าดับไฟ การใช้เครื่องยักษ์เขียว ฯลฯ ก็จะได้ดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้สภาพปัญหาที่ผ่านมาทำให้ทราบว่ากรณีปัญหานี้เราจะมุ่งหวังให้ภาครัฐช่วยเหลือฝ่ายเดียวไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นและเราจะขยายผลไปยังเรื่องภัยพิบัติอื่นๆ ในอนาคตต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ตองอ่อน ผู้ช่วยคณบดี คณะคุรุศาสตร์ มร.ชร.กล่าวว่าสำหรับเครื่องมือดังกล่าวมีขนาดเล็กยาวประมาณ 20 ซ.ม.กว้าง 15 ซ.ม.หนาไม่ถึง 10 ซ.ม.และมีน้ำหนักเบาสามารถนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ที่สัญญานอินเตอร์เน็ตและจากการทดสอบด้วยการนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้เมื่อนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ แล้วก็จะรายงานผลมายังศูนย์กลางเซิฟเวอร์ที่ มร.ชร.ซึ่งจะมีการจัดทำเป็นฐานข้อมูลหรือดาต้าเพื่อการวิเคราะห์โดยสามารถบอกช่วงเวลา ค่าพีเอ็ม 2.5 พีเอ็ม 10 และอื่นๆ รวมทั้งจัดทำเป็นโปรแกรมนำเสนอเพื่ออำนวยความสะดวกหรือแอพพลิเคชั่น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยเฉพาะศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย เพราะเมื่อเครื่องถูกนำไปติดตั้งครอบคลุมทั่วจังหวัดก็จะมีแอพพลิเคชั่นวิเคราะห์และสามารถพยากรณ์ทิศทางลมและจะเกิดปริมาณฝุ่นละอองและหมอกควันในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ผศ.ดร.อนุสรณ์และคณะทีมงานระบุว่าอีกว่าเครื่องดังกล่าวออกแบบและผลิตโดยคณะนักศึกษาภายใต้การอำนวยการของนักวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมลงนามในเอ็มโอยูดังกล่าว ใช้ชื่อว่าเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 แต่แท้ที่จริงสามารถบอกค่าปริมาณฝุ่นได้หลายขนาดด้วย โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่เครื่องละประมาณ 3,000 บาท โดยตัววัดปริมาณฝุ่นนำเข้าจากต่างประเทศและนักศึกษานำมาประกอบเพื่อให้ทำงานได้ด้วยการติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ต ตัวรายงานผล ฯลฯ โดยใช้งบประมาณจากทางภาคเอกชนในเครือข่ายดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่าในการลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้มีการเปิดตัวนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอาสาสมัครป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติใน จ.เชียงราย ซึ่งต่างฝ่ายต่างทำงานในช่วงเกิดปัญหาโดยเฉพาะฝุ่นละอองและหมอกควันที่ผ่านมา รวมทั้งมีการเปิดรับบริจาคผู้ที่จะสมทบทุนเพื่อสร้างเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ดังกล่าวเพื่อนำไปติดตั้งทั่วพื้นที่โดยแจ้งหมายเลขบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย หมายเลขบัญชี 507-297-9560 ชื่อบัญชี “เชียงราย ไฟท์ สโมค” ด้วย.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สราวุธ คำฟูบุตร

สราวุธ คำฟูบุตร

เสนอข่าวทุกมิติ เจาะลึกทุกประเด็น ID LINE : yai8881