X

วอนหยุดรังเกียจผู้ป่วยวัณโรค “เผยรักษาหายได้”

เชียงราย-มูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์จัดเสวนาเรื่อง “บอกลาวัณโรค อย่างเท่ๆ” แต่ยังพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาถูกรังเกียจ ถูกให้ออกจากงาน เด็กต้องหยุดเรียน 

วันที่ 28 ส.ค.2562 ที่ห้องเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินทร์ สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย โดยมูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์ ได้จัดเสวนาเรื่อง “End TB ที่แรก…ที่เชียงราย” โดยกิจกรรมมีการจัดเสวนาเรื่อง “บอกลาวัณโรค อย่างเท่ๆ” โดย ดร.จินตนา งามวิทยาพงศ์-ยาไน นักวิจัยวัณโรคสามทศวรรษ แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิษณุ ขันติพงษ์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาล จ.น่าน แพทย์หญิงวรรัตน อิ่มสงวน ผู้รักษาผู้ป่วยโรควัณโรคใน จ.เชียงราย คุณแม่กรองทอง วงค์สารภี อาสาสมัครผู้ให้กำลังใจผู้ป่วย โดยการเสวนามีการแจ้งผลการวิจัยวัณโรคใน จ.เชียงราย ว่ามีผู้ป่วยมากที่สุดในภาคเหนือตอนบน โดยในปี 2560 พบผู้ป่วยรายใหญ่จำนวน 1,642 คน เสียชีวิต 232 คน หรือมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นเฉลี่ยวันละ 4.5 ราย เสียชีวิตทุกๆ 37 ชั่วโมงซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลและ อ.เมืองเชียงราย ถึงร้อยละ 40 ของผู้ป่วยทั้งจังหวัด กระนั้นคาดว่าจะมีผู้ป่วยมากกว่านี้เนื่องจากยังมีผู้ที่ไม่แสดงตัวและยังขาดข้อมูลที่ใช้ประกอบการวิจัยอยู่ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จ.เชียงราย จึงได้จัดโครงการยุติวัณโรค เชียงราย โดยมีเป้าหมายให้มีผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 158 รายในปี 2575 เนื่องในโอกาสครบรอบ 770 ปีเมืองเชียงรายพอดี และให้มีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 11 ราย รวมทั้งลดภาวะการล้มละลายอันเนื่องจากการป่วยไม่ให้เกิดขึ้นอีกเลยหลงจากที่ผ่านมาพบปัญหาผู้ป่วยถูกรังเกียจ ถูกให้ออกจากงาน เด็กต้องหยุดเรียนและทำงานก่อนวัยอันควร ฯลฯ ทั้งนี้การเสวนาได้ยังได้ยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยที่ประสบความทุกข์ที่ผ่านมาหลายรายที่ถูกผู้คนในสังคมรังเกียจ โดยบางรายเป็นเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ ที่บิดามารดาเสียชีวิตแล้วต้องไปอยู่ที่กระท่อมปลายนาเพียงลำพัง บางรายถูกห้างสรรพสินค้าให้ออกจากงานเพราะพบติดเชื้อวัณโรค ฯลฯ ซึ่งการเสวนาให้ข้อมูลว่าแท้ที่จริงโรคดังกล่าวสามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้จึงไม่จำเป็นต้องรังเกียจมากถึงเพียงนี้ดร.จินตนา กล่าวว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้โรคนี้ยังไม่หายไปทั้งๆ ที่มีการรณรงค์กันมานับ 100 ปีแล้วและเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้ด้วยเพราะมีการปลูกฝังค่านิยมผิดๆ กันให้รังเกียจผู้ป่วยโรคนี้ในทำนองว่าติดเชื้อกันง่ายและมีความเรื้อรังโดยที่รักษาไม่หาย ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องให้ข้อมูลต่อสังคมกันใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีความเข้าในผิดหลายเรื่อง เช่น ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารกับผู้ป่วยแล้วติดเชื้อได้ ฯลฯ ทั้งที่แท้ที่จริงการแพร่เชื้อเกิดขึ้นโดยการไอ จาม พูดหรือร้องเพลง แล้วรดใส่คนปกติและคนปกติเหล่านี้นก็จะติดเชื้อเพียง 5-101% เท่านั้น กระนั้นเนื่องจากค่านิยมที่ผิดๆ ดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าเปิดเผยตัวทำให้เข้ารับการรักษาไม่ถูกต้องหรือต่อเนื่อง ส่งผลทำให้เกิดการแพร่ของผู้พบเชื้อจำนวนมากดังกล่าวในที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนก็จะยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกตามตัวอย่างที่นำเสนอ

นายแพทย์พิษณุ กล่าวว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคควรเอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยและผู้ป่วยจะได้กล้าเปิดเผยตัวเพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าโรคนี้เมื่อรับประทานยาแล้ว 2 สัปดาห์ก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีก และเมื่อรับประทานต่อไปอีกราว 8 สัปดาห์ก็จะหายขาด ข้อสำคัญคือต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสังคมเข้าใจคนเหล่านี้ก็จะดูแลตัวเองจนหายขาดและทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงรวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่อผู้ป่วยรายต่างๆ ก็จะน้อยลงไปด้วย

ขณะที่นายภาษกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่าความรังเกียจต่อผู้ป่วยจนมีผลกระทบต่อผู้ป่วยและการแพร่ระบาดของโรคเกิดจากความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณอย่างแท้จริง เพราะเดิมนั้นองค์ความรู้และวิทยากรยังคงมีน้อยแต่ยุคปัจจุบันโรคชนิดนี้สามารถป้องกันและทำให้หายขาดได้ แท้ที่จริงจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไปกระนั้นการณรงค์ให้ความรู้จึงต้องให้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานวิจัยด้านวัณโรค สื่อมวลชน องค์กรต่างๆ ภาคประชาชน ได้โหมรณรงค์กันอย่างเต็มที่ รวมทั้งภายในเรือนจำที่พบว่ามีผู้ป่วยถึง 10-15% ที่พบเชื้อนี้ด้วยเพื่อให้ปี 2575 สามารถไปสู่ยุคที่มีผู้ป่วยลดลงหรือปลอดโรคนี้ได้ต่อไป.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สราวุธ คำฟูบุตร

สราวุธ คำฟูบุตร

เสนอข่าวทุกมิติ เจาะลึกทุกประเด็น ID LINE : yai8881