เชียงราย-วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 ที่ ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย นายอมร พุทธสัมมา ประมงจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ความร่วมมือทางวิชาการในการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ บริษัท หนานทง จงซุ่ย อคาวาติค รีเสิร์ท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับซื้อกุ้งจากกลุ่มเกษตรกรเพื่อส่งออกไปยังผู้บริโภคชาวจีน เพื่อเป็นการยกระดับ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งก้ามกรามด้วยนวัตกรรมใหม่ รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมการส่งออก บูรณาการประสานงานเป็นองค์รวม เชื่อมโยงนโยบาย One Belt One Road ของประเทศจีน โดยมีเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในอำเภอเทิง ตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นายอมร พุทธสัมมา กล่าวว่า อำเภอเทิง มีกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ทำการเพาะเลี้ยงเป็นเวลานานหลาย 10 ปีแล้ว กุ้งก้ามกรามของที่นี่มีลักษณะสมบูรณ์ ตัวใหญ่ เนื้อแน่น เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค และมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ยังเกิดธุรกิจร้านอาหาร ที่พัก รีสอร์ท บริเวณใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก สร้างเศรษฐกิจความกินดีอยู่ดี ให้เกิดขึ้นกับชาวอำเภอเทิง เป็นอย่างมาก และจากการที่กุ้งก้ามกรามของอำเภอเทิง มีรสชาติซึ่งเป็นที่นิยมของตลาด รวมทั้งบีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและมีโอกาสเข้ามารับประทานกุ้งก้ามกราม ที่อำเภอเทิง และติดใจในรสชาติความอร่อยของกุ้งที่นี่ ได้นำเรื่องราวไปบอกต่อกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวจังหวัดเชียงราย แบบปากต่อปาก จึงมีความต้องการบริโภคสูงขึ้น ต่อมาได้รับการประสานงานจาก บริษัท หนานทง จงซุ่ย อคาวาติค รีเสิร์ท จำกัด ที่ต้องการซื้อกุ้งก้ามกรามสด จากเกษตรกรวันละ 10,000 กิโลกรัม เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน แต่กำลังการผลิตของเกษตรกรยังไม่เพียงพอ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้ามาเป็นผู้ส่งเสริม ให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม โดยนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาอบรมเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรได้รับทราบ เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ ของของกุ้งก้ามกราม ให้ดียิ่งขึ้น เพียงพอต่อการบริโภคภายใน และเพียงพอต่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
สำหรับพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ของอำเภอเทิง ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะเลี้ยงประมาณ 2,000 ไร่ มีความสามารถผลิตได้วันละ 6,000 กิโลกรัม ราคาขายเฉลี่ย 350 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการส่งออก จึงได้มีเกิดความ ร่วมมือทางวิชาการ กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตให้ได้ตามเป้า อย่างมีคุณภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ต่อไป
ข่าวโดย:เพทาย บ้านชี รายงาน.
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: