X

สืบสานต่อยอดศาสตร์พระราชา ใช้ “พลังง้วนดิน” เพิ่มผลผลิต ทางรอดเกษตรกรไทย

เชียงราย-เกษตรกรเชียงรายรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนสร้างเครือข่ายเลิกใช้สารเคมี ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ นำเอา “พลังง้วนดิน” มาใช้ลดต้นทุน เพิ่มรายได้

ปัจจุบันสังคมเกษตรที่เปลี่ยนไป ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีต้นทุนสูงและขาดทุนมีหนี้สินมากขึ้น ทั้งนี้เกิดจากการขาดองค์ความรู้ที่จะแก้ปัญหาดิน น้ำ ป่า ทำให้ภาคอุตสาหกรรมยึดพื้นที่ภาคการเกษตรมากขึ้น พื้นที่การเกษตรปนเปื้อนสารพิษ ผืนดิน ผืนน้ำ ผืนป่า เกิดการเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้เกิดภาวะโลกร้อน สังคมเหลื่อมล้ำนำไปสู่ปัญหามากมาย

แต่สิ่งที่ถือเป็นโชคดีสำหรับเกษตรกรไทยและคนไทยคือ การมีศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้นำไปใช้หรือนำไปประยุกต์ใช้ต่อสู้กับปัญหาที่ได้รับ โดยมีเป้าหมายที่จะหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน สร้างความสมดุลให้กลับมาใหม่ ทั้งผืนดินอันเป็นต้นทุนหลักและวิถีชีวิตที่มีภูมิคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ที่บ้านร่องริว ม.12 ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย มีการจัดตั้งกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนเกษตรสรรพสิ่งอำเภอเทิง” ขึ้น โดยมุ่งเน้นการทำเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยแบ่งพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินออกเป็น 4 ส่วน คือ ปลูกพืช 30 ทำนา 30 ประมง 30 และที่อยู่อาศัยรวมถึงปศุสัตว์อีก 10

ที่แหล่งเรียนรู้แห่งนี้เป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ (ทำเกษตร 1 ไร่ 1 แสน) ตามศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยภูมิปัญญาไทยและเทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน (พลังง้วนดิน) ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิตมาก และคุณภาพสูง

นางเกตน์สิรี เสนาดี อายุ 41 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสรรพสิ่งอำเภอเทิง เผยว่า ในอดีตตนก็เป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานเป็นครูเนอสเซอรี่ ต้องหาเช้ากินค่ำในเมืองกรุง จนพบว่าการทำแบบนี้ไม่ตอบโจทย์ในชีวิต เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย จึงชวนสามีกลับมาบ้านที่อำเภอเทิง จ.เชียงราย เพื่อมาทำการเกษตร ช่วงแรกยังเป็นการลองผิดลองถูก มีการใช้สารเคมีบ้าง

แต่ต่อมาได้ไปอบรมการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จึงมีโอกาสรู้จักกับอาจารย์เสถียร ทองสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ จ.อุบลราชธานี ที่ได้มาให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เชียงราย และได้แนะนำให้ทำเกษตรโดยใช้ “พลังง้วนดิน” ตนเห็นว่าน่าสนใจ จึงชักชวนเพื่อนบ้านในหมู่บ้านได้จำนวน 9 ราย ที่สนใจทำเกษตรปลอดสารเคมีมารวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้น และเชิญอาจารย์เสถียร ซึ่งถือเป็นปราชญ์ด้านเกษตรอินทรีย์มาเป็นผู้ให้ความรู้และชี้แนะแนวทาง

นายเสถียร ทองสวัสดิ์ ปราชญ์ชาวบ้านเล่าว่า เทคโนโลยีเกษตรสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน (พลังง้วนดิน) เป็นผลงานการศึกษาวิจัยของอาจารย์กิตติ์ธเนศ รังคะวรเศรษฐ์ อดีตนักวิชาการเกษตร ซึ่งใช้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น พืชผัก ปุ๋ยคอก ดินโคลน รำอ่อน ฯลฯ เรียกรวมว่า “สรรพสิ่ง” เพราะเป็นวัสดุที่หาได้รอบตัว แม้แต่ต้นไม้ใบหญ้าหรือเศษของเหลือจากการเกษตร นำมาใช้ผสมตามสูตรที่คิดค้นขึ้น เพื่อใช้ในการเกษตรตั้งแต่การนำมาปรับปรุงดิน บำบัดน้ำ เป็นปุ๋ย เป็นอาหารสัตว์ ดูดอากาศพิษ ไล่แมลง แล้วแต่การผสมสูตร

การทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน หรือ ง้วนดิน เป็นการนำเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาผสมกัน แล้วนำไปหมักให้เกิดจุลินทรีย์และแพลงตอนที่เป็นประโยชน์ต่อดิน พืช และสัตว์ ลดต้นทุนของเกษตรกรได้มากกว่า 80% ในพื้นที่เท่าๆ กัน เกษตรกรที่ใช้เกษตรสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโนจะมีต้นทุนต่ำกว่า และมีรายได้ที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสรรพสิ่งอำเภอเทิงได้พาไปชมการทำนาระบบสุริยะซึ่งเป็นแปลงนาที่ยึดตามหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน (30-30-30-10) โดยทำแปลงนาเป็นรูปวงกลม ขุดหน้าดินเก่าขึ้นมาทำคันดินรอบทุ่งนา ใช้สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว พื้นที่ข้างขอบคันนาขุดเป็นร่องลึกกว่าตรงกลางเพื่อใช้เลี้ยงปลา กุ้ง หอย หรือสัตว์น้ำอื่นๆ กลางแปลงนาจะปลูกข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ตามกระบวนการ

การปลูกข้าวในนาสุริยะจะปลูกเป็นระยะห่างประมาณ 40×40 ซม. โดยทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมดิน การเลือกเมล็ดพันธ์ุ รวมถึงการไล่แมลงศัตรูพืชก็มีสรรพสิ่งหรือง้วนดินเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเกษตรกรจะปักไม้สำหรับห้อย”ก้อนสุริยะ” ซึ่งใช้ดูดอากาศพิษและไล่แมลง ไม่มีการใช้สารเคมี

สำหรับผลผลิตของเกษตรกรที่ทำเกษตรสรรพสิ่ง ในนาข้าว 1 ไร่ จะใช้เมล็ดข้าว 2 ขีด หรือ 10,000 เมล็ด แต่ละเมล็ดจะแตกกอได้ 60 ต้น แสดงว่าในนา 1 ไร่จะมีต้นข้าวอยู่ 6 แสนต้น แต่ละต้นจะมี 200 เมล็ดต่อรวง หรือ 120 ล้านเมล็ด คิดเป็นน้ำหนักได้ราวๆ 2 ตัน ขายเป็นข้าวอินทรีย์เกรดพรีเมี่ยม สร้างรายได้ 1 ไร่ 1 แสน ในขณะที่ต้นทุนต่อไร่แค่เพียง 300 บาท/ไร่ ยังไม่รวมรายได้ที่เกิดจากการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์น้ำในนา และปศุสัตว์ข้างบ้านอีก ซึ่งถ้าเป็นนาข้าวที่ใช้สารเคมีทั่วไป ต้นทุนต่อไร่จะไม่ต่ำกว่า 4,500 บาท

การทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโนเป็นการพึ่งพาธรรมชาติ เอาธรรมชาติไปบำบัดธรรมชาติ ” เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ที่เป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือก” นายเสถียรกล่าว

ปัจจุบันที่จังหวัดเชียงรายมีการตั้งเครือข่ายผู้ใช้เทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน “พลังง้วนดิน” กระจายในหลายอำเภอ เช่น อ.เทิง อ.พาน อ.พญาเม็งราย แและ อ.เวียงชัย ผู้สนใจอยากเรียนรู้สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณเกตน์สิรี เสนาดี ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรสรรพสิ่ง อ.เทิง จ.เชียงราย เบอร์มือถือ 095-5467451 หรือ อ.เสถียร ทองสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ จ.อุบลราชธานี เบอร์มือถือ 081-0625087

ทุกวันนี้การทำเกษตรกรรมที่พึ่งพาสารเคมี ส่งผลเสียต่อทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพของชาวไทยที่แย่ลงทั้งทางตรงและทางอ้อม การเดินรอยตามศาสตร์พระราชา เป็นการเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ ทำพอกินพอใช้ เหลือก็นำมาขายสร้างรายได้ เป็นศาสตร์ที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย “พ่อสอนไว้ ถ้าทำได้ ไม่มีจน”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สราวุธ คำฟูบุตร

สราวุธ คำฟูบุตร

เสนอข่าวทุกมิติ เจาะลึกทุกประเด็น ID LINE : yai8881