X

ชุมชนไทลื้อที่อำเภอเทิงจัดงานเลี้ยงเทวดาบ้าน บวงสรวงเจ้าปู่แสนคำ สืบสานวัฒนธรรม

เชียงราย-ชาวบ้านไทลื้อพื้นที่อำเภอเทิง จัดงานสืบฮีตสานฮอยประเพณีเลี้ยงเทวดาบ้าน บวงสรวงเจ้าปู่แสนคำ เพื่อเป็นสิริมงคลชีวิตส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ชาวไทลื้อเป็นชนเผ่าที่มีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์ของเมืองล้านนามาตั้งแต่โบราณ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่สิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาได้อพยพลงใต้กระจัดกระจายไปหลายประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ จนมีชาวไทลื้อบางส่วนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองน่าน ก่อนที่บางครอบครัวจะย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักอยู่ที่อำเภอเชียงคำ จ.พะเยา ในปัจจุบัน

แต่เมื่อชุมชนขยายตัวใหญ่ขึ้น ก็มีบางคนที่อพยพไปอยู่พื้นที่ใกล้เคียง หนึ่งในนั้นก็คืออำเภอเทิง จ.เชียงราย ที่นี่มีอีกหนึ่งหมู่บ้านซึ่งเป็นชุมชนไทลื้อ มีบรรพบุรุษที่มาจากบ้านมาง อ.เชียงคำ มาก่อตั้งเป็นชุมชนเล็กๆ เมื่อปี 2460 ตั้งชื่อว่า “บ้านทุ่งเต่าไห้”หรือ”บ้านทุ่งเตาไห” โดยตั้งชื่อจากท้องทุ่งขนาดใหญ่ที่ขนาดเต่าเห็นยังร้องไห้ แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านทุ่งขันไชย” ชาวบ้านยึดอาชีพทำไร่ทำนามาตั้งแต่อดีต

บ้านทุ่งขันไชย ม.7 ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย ในปัจจุบันเป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามแหล่งใหญ่ของจังหวัดเชียงราย สร้างชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก ใครมาเที่ยวที่อำเภอเทิงจะต้องแวะมาทานกุ้งที่บ้านทุ่งขันไชย แต่ถึงแม้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ ทำให้บริบทของชุมชนเปลี่ยนไปตามกระแสสังคม สิ่งที่ชาวบ้านยังยึดถือปฏิบัติก็คือประเพณีของชาวไทลื้อตามพื้นเพเดิมของตนเอง

ทุกสิ้นๆจะมีประเพณีเลี้ยงดงชาวบ้าน เป็นการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพบูชา จัดขึ้นในป่าสาธารณะหน้าวัดอุทธราราม ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ปีนี้จะพิเศษกว่าทุกๆปี เพราะมีการสร้างศาลเจ้าปู่แสนคำขึ้นมาเป็นที่เคารพบูชาตามความฝันของผู้เฒ่าในหมู่บ้าน ที่ฝันว่ามีชายหนุ่มรูปร่างหน้าตาดีมาหา และบอกว่าชื่อ “แสนคำ” เป็นผู้ปกปักรักษาพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่ครั้งอดีต ชาวบ้านจึงจ้างช่างวาดรูปเหมือนเจ้าปู่แสนคำ และนำไปเก็บไว้ที่ศาลเจ้าปู่ และจัดพิธีบวงสรวงเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต พร้อมทั้งจัดพิธีเลี้ยงเทวดาบ้านตามความเชื่อของชาวไทลื้อขึ้นเป็นครั้งแรก

ในกิจกรรมมีการตั้งขบวนแห่รูปเจ้าปู่แสนคำ มีเครื่องเซ่นไหว้ อาหารคาวหวานใส่ตะกร้าหาบ และเปิดบทขับลื้อ จากนั้นพ่อบ้านแม่บ้านและเด็กๆ เยาวชน ที่แต่งตัวด้วยชุดลื้อก็จะพากันเดินจากกลางหมู่บ้านไปถึงหอเจ้าปู่ เป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร ก่อนจะไปประกอบพิธีตามแบบวิถีดั้งเดิม หลังจากเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงก็จะนำเอาอาหารที่ผ่านพิธีบวงสรวงมาแจกจ่ายแบ่งปันกันกิน

ถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่พื้นเพประเพณีเก่าก็ยังคงต้องสืบสานกันต่อ เพื่อที่คนรุ่นหลังๆจะได้รู้จักและรักษาต่อไปตราบนานเท่านาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สราวุธ คำฟูบุตร

สราวุธ คำฟูบุตร

เสนอข่าวทุกมิติ เจาะลึกทุกประเด็น ID LINE : yai8881