X

โครงการตามรอยวรรณคดีเสด็จประพาสต้นจังหวัดกาญจนบุรี

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ได้จัดโครงการตามรอยวรรณคดีเสด็จประพาสต้น จังหวัดกาญจนบุรี พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” โดยมีมัคคุเทศก์น้อยประจำท้องถิ่นบรรยายให้ความรู้ตลอดการเดินทาง สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี นำโดยอาจารย์จันทิมา สว่างลาภ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และผู้ร่วมวิจัย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ราตรี แจ่มนิยม อาจารย์ศศิรัศมิ์ สินธุวณิก และอาจารย์พีระวิศว์ พูลเขตรวิทย์ ได้จัดโครงการตามรอยวรรณคดีเสด็จประพาสต้นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในงานนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการจากหน่วยงานหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ร่วมเป็นเครือข่ายศูนย์กลางเรียนรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้สื่อข่าว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งคณะนักเรียนโรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรี คณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีมาร่วมทำกิจกรรมตามรอยเสด็จประพาสต้นกันอย่างคับคั่ง เริ่มต้นเส้นทางศูนย์การเรียนรู้ที่ 1 วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร” พุทธสถานที่งดงามและศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ที่เชื่อว่าเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งภายในวิหารได้ประดิษฐานแท่นพระบรรทม บริเวณรอบวิหารมีสถานศักดิ์สิทธิ์ เช่น บ่อบ้วนพระโอฐ เขาถวายพระเพลิง รอยพระพุทธบาทจำลอง มีอายุหลายร้อยปี ซึ่งมัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนวัดพระแท่นดงรังได้นำเที่ยวชมและอธิบายเนื้อหาอย่างน่าสนใจในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสดีที่มีนักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานของพ่อเพลงแม่เพลงคนท้องถิ่นมาร่วมร้องเพลง “พิษฐาน” เพลงสวดที่ร้องในวิหารเพื่อแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากคำอธิฐานที่มาเรียงร้อยเป็นเพลงสวดอันหาชมได้ยาก

่ศูนย์การเรียนรู้ที่ 2 “ชุมชนบ้านหนองขาว” เมื่อถึงโรงเรียนวัดอินทาราม ได้นำคณะนักเรียนมาต้อนรับขับร้อง “เพลงเหย่ย” เล่าขานถึงการเสด็จประพาสต้นที่หนองขาวของรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้กล่าวถึงคนหนองขาวว่า “เป็นคนมีจิตใจกล้าหาญที่กล้ากล่าวฟ้องโทษมูลนายที่ประพฤติไม่ชอบ” หลังจากนั้นมัคคุเทศก์น้อยได้นำชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของชุมชนบ้านหนองขาว ฟังสำเนียงเสียงเหน่ออันเป็น อัตลักษณ์ของชุมชน รับประทานขนมตาลหอมหวานและของฝากข้าวเกรียบว่าวฝีมือจากชาวบ้าน แสดงให้เห็นว่า ชุมชนแห่งนี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

ศูนย์การเรียนรู้ที่ 3 วัดเทวสังฆาราม” สถานที่ตั้งค่ายหลวงใน ครั้งนั้น โรงเรียนเทศบาล 1 ได้นำคณะนักเรียนร้องเพลงอีแซว เล่าขานถึงการเสด็จประพาสต้น ณ วัดแห่งนี้ รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัด มัคคุเทศก์น้อยนำชมหอ พระประวัติ สถานที่ที่รวบรวมพระราชประวัติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) และแวะไปสักการะ ต้นโพธิ์หน่อพุทธคยา “ต้นไม้ของพ่อ” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงปลูกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2506

และเป้าหมายปลายทาง ศูนย์การเรียนรู้ที่ 4 น้ำตกไทรโยคใหญ่ เมื่อเดินเข้ามาได้ยินเสียงเพลง “เขมรไทรโยค” ต้อนรับนักท่องเที่ยว จากคณะครูและนักเรียนโรงเรียนอนุบาลไทรโยค จากนั้นนักเรียนมัคคุเทศก์น้อยประจำท้องถิ่นได้เดินนำนักท่องเที่ยวชมเรือพระที่นั่งจำลอง “เรือหางแมงป่อง” จากนั้นร่วมถวายราชสักการะวางดอกไม้บูชาอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ต่อมามัคคุเทศก์น้อย ได้นำนักท่องเที่ยวชมน้ำตกไทรโยคใหญ่พร้อมขับเสภาบทประพันธ์ของครูเนาวรัตน์ พงไพบูรณ์ ที่กล่าวถึง การเสด็จประพาสต้นไทรโยคของรัชกาลที่ 5 และความงดงามของน้ำตกไทรโยคไว้อย่างไพเราะ ช่วงท้ายรายการ นักท่องเที่ยวได้ชมศิลปะการแสดงพหุวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงและมอญ

ซึ่งเป็นการแสดงของชุมชนท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่สืบไป
การตามรอยเสด็จประพาสต้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิจัยในชุมชน เครือข่ายศูนย์การเรียนรู้จากโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี และสมาชิกในชุมชนที่ร่วมมือกันสร้างมิติใหม่แห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน สร้างเยาวชนให้มีใจรักถิ่นฐานบ้านเกิด การมาท่องเที่ยวในครั้งนี้อาจเป็นต้นแบบหนึ่งของวิถีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “เมืองกาญจน์” ที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์ สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว ได้เป็นอย่างดี อันเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน