X
ลูกอีสาน

ลูกอีสาน! คนสู้ชีวิตใช้ชีวิตแบบลูกทุ่ง หน้าแล้งสูบหนองน้ำหาปลา เลี้ยงปากท้อง

สกลนคร-อีสานเข้าหน้าแล้งเต็มตัว อุณหภูมิสูงสุด 36—38 องศา น้ำเริ่มแห้งขอด ลูกอีสาน ยิ้มไม่หวั่น ออกหาอยู่หากิน ใช้ชีวิตแบบลูกทุ่ง สูบหนองน้ำหาปลากิน เหลือก็ทำปลาแดก กินได้ทั้งปี 

“ลูกอีสาน” ณ เวลานี้(17 ก.พ. 2561) ภาคอีสานเรียกได้ว่าย่างกรายเข้าสู่ฤดูแล้งอย่างเต็มตัว อุณหภูมิสูงสุดของวันจะอยู่ที่ 36-38 องศา  ยิ่งเข้าช่วงเดือนมี.ค. ต่อเนื่อง เม.ย. อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยจะทะลุ 40 องศาเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้พื้นที่โดยทั่วไปเริ่มแห้งแล้ง  หญ้าแห้ง ต้นไม้ผลัดใบ ทำการเพาะปลูกด้วยความยากลำบาก  สำหรับเขตพื้นที่ชลประทาน หรือใกล้แหล่งน้ำ  ก็จะพอทำนาปังได้

เมื่อเข้าสู่หน้าแล้งเกษตรกรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก เป็นการปลูกพืชฤดูแล้ง หรือที่เรียกว่าพืชใช้น้ำน้อย หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี  อาทิ  พืชตระกูลถั่ว  ถัวงอก ถั่วลิสง มะเขือเทศ ปลูกข้าวโพด  เพาะเห็ดฟาง ฯ  คนอีสานหรือลูกอีสาน  ถือเป็นชนเผ่าที่มีความเข้มแข็งและอดทน อยู่ง่ายกินง่าย  หาอยู่หากินเก่ง  และชอบใช้ชีวิตในธรรมชาติ ท่องไร่ปลายนา  หรืออาจเรียกได้ว่าใช้ชีวิต แบบลูกทุ่ง

ดังจะเห็นจากวิถีการกินของคนอีสานนั้น ถึงแม้จะเข้าสู่ฤดูแล้ง  จนแหล่งน้ำแห้งขอด ป่าเขาและทุ่งหญ้าแห้งเหี่ยว  แต่ลูกอีสาน นั้นจะสามารถหาอาหารได้จากแผ่นดินที่แห้งแล้งนี้ ตามสัญชาตญาณที่ติดตัว และสืบทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่จากรุ่นสู่รุ่น ทั้งแย้  หนูนา ปูนา ปลา ไข่มดแดง ขุดแมงกุดจี่  แมงแคง จักจั่น หน่อไม้ ฯ และของป่านานาชนิด

โดยที่บ้านหนองสระ ต.เหล่าปอแดง  อ.เมือง จ.สกลนคร  นายอนุพงศ์ หอมจันทร์ นายกเทศมนตรีตำบลเหล่าปอแดง ก็นำทีมลูกบ้านใช้ชีวิตแบบลูกทุ่ง  อยู่แบบพอเพียง ออกสูบหนองน้ำ ลงไซดักปลา หาอยู่หากินแบบฉบับคนอีสานโดยแท้

ลูกอีสานนายอนุพงศ์ หอมจันทร์ นายกเทศมนตรีตำบลเหล่าปอแดง กล่าวว่า เราภาคภูมิใจกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบอีสาน อยู่ตามท้องไร่ปลายนา หาปู-ปลา เหลือจากกินก็ขายสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว อยู่อย่างมีความสุข สำหรับวิธีสูบปลาก็ไม่ยาก ทั้งยังเกิดประโยชน์กับการทำนาปังด้วย  คือการผันน้ำจากหนองน้ำใส่พื้นที่นาปัง โดยใช้เครื่องยนต์รถไถนาธรรมดา พ่วงเข้ากับปั้มสูบน้ำ เมื่อน้ำแห้งแล้วก็ลงมือจับปลากันอย่างสนุก

ปลาที่ได้มีหลากหลายชนิด อาทิ ปลาช่อน ปลาไหล ปลากระดี่ ปลาตอง ปลาขาว ปลาหมอ ฯ รสชาติปลาที่จับได้จากหนองน้ำธรรมชาตินั้น รสชาติจะอร่อยกว่าปลาเลี้ยงในบ่อหลายเท่านัก หากเหลือกินสามารถเอามาหมักเป็นปลาแดก(ปลาร้า) สุดยอดเครื่องปรุงอาหารอีสาน  ถือเป็นการถนอมอาหารของชาวอีสาน  ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าภาคภูมิ นอกจากจะได้ปลามารับประทานกันแล้ว ยังเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย

ลูกอีสานนายประคอง ยุบลศิริ ชาวนาบ้านหนองสระ กล่าว่า วิถีชีวิตดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของคนอีสาน  การหาอยู่หากิน วันนี้ก็ได้นัดหมายกันกับญาติ และเพื่อนบ้านออกมาสูบหนองน้ำหาปลากินกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ลงขันกันคนละยี่สิบบาทซื้อน้ำมันดีเซลมาเติมรถไถในการสูบน้ำ ใช้รถไถ 2 คัน ทำให้สูบน้ำได้เร็วขึ้นประมาณ 2 ชม. น้ำจะเริ่มแห้ง  และถึงช่วงไคลแม็กซ์ นำอาวุธ อันประกอบด้วยสองมือ ไซดักปลา  คุกับข้อง ลงหาปลาลุยโคลน โดยปลาช่อนมักจะซ่อนอยู่ในโคลนบริเวณที่มีหญ้าปกคลุมอยู่  รวมถึงเหยี่ยน(ปลาไหล) ต้มเปรตอร่อยนักแล  นายประคอง  ยุบลศิริ กล่าว

ปลาช่อน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Channa striata) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ครีบหางเรียวปลายมน ปากกว้าง ภายในปากมีฟันเขี้ยวบนเพดาน ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว 6-7 เส้น ด้านท้องสีจางตัดกับด้านบน ครีบสีคล้ำมีขอบสีเหลืองอ่อน ครีบท้องจาง มีขนาดลำตัวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง 1 เมตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฤดูแล้งลูกอีสาน!หาอยู่หากิน ขัวหอย ขุดปูนาฯ หารายได้จุนเจือครอบครัว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

อภิชาติ ชาไชย

อภิชาติ ชาไชย

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสกลนคร อีเมล [email protected]