X
ขัวหอย

ฤดูแล้งลูกอีสาน!หาอยู่หากิน ขัวหอย ขุดปูนาฯ หารายได้จุนเจือครอบครัว

สกลนคร-ลูกอีสานหาอยู่หากิน ฤดูแล้งเกษตรกรว่างเว้นจากการทำนา ออกหาหอยขม ขุดปูนา หากบเขียด เก็บผักพื้นบ้านรับประทานในครอบครัวลดรายจ่าย หากเหลือก็แบ่งญาติและเพื่อนบ้าน บ้างก็ขายสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว 

หลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงฤดูกาลที่ผันเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวต่อเนื่องสู่ฤดูร้อนหรือที่รู้จักกันในชื่อฤดูแล้ง หลังผ่านพ้นฤดูฝนแหล่งน้ำตามท้องไร่ปลายนาก็แห้งเหือด มองเห็นต่อซังข้าวสีเหลืองไกลสุดตา วิถีชีวิตคนอีสานในชนบทจะอยู่กันอย่างเรียบง่าย รวมถึงอาหารที่รับประทานก็จะเป็นของที่หาได้ในท้องไร่ปลายนา ป่าเขา หรือในแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ การหากินตามธรรมชาติถือเป็นความสุขที่คนอีสานมีมาแต่โบราณ ในฤดูแล้งเช่นนี้  มองไปแห่งหนไหนก็เหมือนจะไม่มีอาหารให้รับประทาน  แต่คนอีสานในชนบทไม่คิดเช่นนั้น โดยความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ  เหมือนเป็นสัญชาตญาณการดำรงชีวิตที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

นายวิชา เพียสา ชาวนา อ.โคกศรีสุพรรณ

นายวิชา เพียสา อายุ 44 ปี ชาวนาบ้านโพนทอง ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร   ก็เป็นคนอีสานลูกชาวนาโดยกำเนิด  ป่า ทุ่งนา  หรือแหล่งน้ำเป็นเหมือนบ้าน   ตกกลางคืนก็นำไฟ คาดหัวออกส่องกบเขียด ปู ปลา ฯ  นายวิชา เพียสา กล่าวว่า ในหน้าแล้งหากรู้วิธีหาอาหารก็จะพบของกินอยู่ทั่วไปตามท้องนา หรือแหล่งน้ำที่แห้งขอด  อาทิ หอยขม ปูนา กะปอม  ไข่มดแดง หนูนา ฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอาหารจานเด็ดของคนอีสาน  หลังจากเสร็จงานภายในบ้าน  ตนจะออกเดินไปตามท้องนาเพื่อหาปูนาและหอยขม ซึ่งในช่วงฤดูแล้งหอยและปูจะเข้าเบ้า(จำศีล) หาได้จากพื้นดินทั่วไปที่เคยเป็นแหล่งน้ำมาก่อน  เช่น  ท้องนาในส่วนที่ยังชุ่มอยู่ หรือหนองน้ำที่แห้งขวด

ปูนา หอยขม แมงกุ๊ดจี่ และเขียด ของที่หาได้ตามท้องนา ในฤดูแล้ง

ให้สังเกตจากรูบนพื้นดินเมื่อขุดลงไปประมาณ 1 ฟุต ก็จะเจอปูนา  ซึ่งอร่อยและเป็นที่นิยมมาก ทุกวันนี้ราคาปูนาสูงขึ้นหากซื้อที่ตลาดในตัวเมือง ปูนา 7 ตัว  20-40  บาท วิธีหาหอยขมภาษาอีสานเรียกขัวหอย หรือการเอาเสียมถากหน้าดินบริเวณพื้นนาไปเรื่อยๆ  หอยขมจะจำศีลอยู่ในดินที่เคยเป็นโคลนหรือน้ำมาก่อน  หอยขมในฤดูแล้งจะอร่อยน่ากินกว่าหอยขมหน้าน้ำ เพราะจะตัวใหญ่ อ้วน  ดินจะเกาะรอบเปลือกนอกเท่านั้นภายในจะสะอาด  ล้างน้ำหนึ่งรอบก็สามารถนำไปแกงได้  ราคาขายอยู่ที่กองละ 20-40 บาท

ภาษาถิ่นผักขี้ส้ม-ขี้ขม หรือผักแก่นส้ม ผักแก่นขม หาได้ทั่วไปตามท้องนาและแหล่งน้ำที่แห้งขอด

นอกจากนี้ในฤดูแล้งตามแหล่งน้ำที่แห้งขอดยังมีสุดยอดของผักอีสานสำหรับมาใส่แกงต่างๆ  นั้นก็คือผักขี้ส้ม ผักขี้ขม (ผักแก่นส้ม ผักแก่นขม)พบได้เฉพาะช่วงหน้าหนาวถึงหน้าแล้ง  ผักแก่นส้มมีรสเปรี้ยว  ผักแก่นขมจะมีรสขมอ่อน  นิยมนำมาใส่สารพัดแกงของอีสาน เช่น แกงปลา แกงกบ-เขียด ฯ  นอกจากนี้ยังพบว่ามีสรรพคุณหลายอย่าง ได้แก่  ช่วยลดไข้ เจริญอาหาร กระตุ้นน้ำลาย กระตุ้นการอยากอาหาร ช่วยขับเสมหะ แก้อาการไอ  แก้ร้อนใน ฯ โดยจะนิยมกินทั้งใบ ลำต้น จนถึงราก ในตลาดผักแก่นส้มแก่นขมขายกันกองละ 20 บาท ในฤดูแล้งเช่นนี้ หากโชคดีขัวหอยขม-ขุดปูนา ได้เยอะก็จะขายได้ประมาณ 200- 300 บาท/วัน

“ผมเงินไม่ค่อยมี แต่ก็มีความสุขกับครอบครัว และญาติมิตร  อยู่อย่างพอเพียง ทำนา หาปูปลา จับกบจับเขียด  ขุดแมงกุดจี่ ฯ หากินไปไม่มีอดตาย หากเหลือจากรับประทานในครอบครัวก็จะนำไปแบ่งญาติแบ่งเพื่อนกิน  หรือนำไปขายสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว” นายวิชา เพียสา กล่าว

ข่าวจังหวัดสกลนคร

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

อภิชาติ ชาไชย

อภิชาติ ชาไชย

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสกลนคร อีเมล [email protected]