X
หอยเชอรี่

มันมากับน้ำ!! หอยเชอรี่ คู่ปรับตลอดกาล ชาวนาไทย 

ในห้วงฤดูฝนเช่นนี้หลายพื้นของประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่น จากอิทธิพลของพายุ หย่อมความกดอากาศต่ำ และร่องมรสุมพาดผ่าน โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยธรรมชาติของน้ำ ย่อมไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำเสมอ ทำให้เกิดภาวะน้ำหลาก และท่วมในบางพื้นที่ สำหรับพื้นที่นาข้าวของเกษตรกร ศัตรูพืชชนิดหนึ่งที่มากับน้ำ ซึ่งทำลายต้นข้าวจากภายใน อาจจะไม่ทำลายนาข้าวโดยสิ้นเชิง แต่ก็สร้างความรำคาญใจ และเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาวนา เป็นสายพันธุ์จากต่างชาติ รู้จักกันดีในนาม “หอยเชอรี่”

หอยเชอรี่ หรือ หอยโข่งอเมริกาใต้ หรือ หอยเป๋าฮื้อน้ำจืด เป็นหอยน้ำจืดจำพวกหอยฝาเดียว มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ปัจจุบันแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยอำนาจการขยายพันธุ์ที่มากกว่าหอยท้องถิ่น โดยหอยเชอรี่สามารถวางไข่ได้ถึง ครั้งละประมาณ 388–3,000  ฟอง เรียงเป็นแถวสีชมพู ไข่จะฟักเป็นตัวหอยใน 7–12 วัน โดยเฉพาะในฤดูฝนจะ วางไข่มากถึง 10-14 ครั้ง/เดือน เลยทีเดียว  

ฤดูน้ำหลากเช่นนี้ หอยเชอรี่และไข่ จึงไหลไปกับน้ำ จากแปลงนาหนึ่ง สู่แปลงนาหนึ่ง แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว   ชาวนาที่ จ.สกลนคร เผยว่า วิธีกำจัดหอยที่ดีสุดในตอนนี้ และไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม คือการตื่นแต่เช้า เพื่อไปเก็บหอย ในบางพื้นที่พบว่า นา 1 ไร่ จะเก็บหอยเชอรี่ได้มากกว่า 1 กระสอบ อีกวิธีกำจัดหอยที่ดี คือการนำเป็ดมาเลี้ยงปล่อยในนาข้าว เป็ดจะกินหอยเป็นอาหาร

สำหรับวิธีป้องกันหอยไม่ให้ระบาดเบื้องต้น กรณีน้ำไม่ท่วม คือการนำตาข่ายแบบถี่ มากั้นทางน้ำระหว่างแปลงนาเพื่อดักหอยเชอรี่ อาจเป็นวิธีที่ยุ่งยากสำหรับชาวนา แต่ก็ช่วยได้มากพอสมควร  นอกจากนี้ยังมีการควบคุมกันเองตามธรรมชาติ โดยหอยเชอรี่จะเป็นอาหารของนกนานาชนิด แต่ก็ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศในพื้นที่ดังกล่าวว่ายังสมบูรณ์อยู่หรือไม่

พร้อมแนะเรื่องสารเคมีในการฆ่าหอย ซึ่งก็อยู่ที่ดุลพินิจของชาวนาแต่ละราย เพราะอาจเกิดการตกค้าง และกระทบต่อระบบนิเวศภายในนาข้าว กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด อาจตายหรือได้รับสารพิษจากสารเคมีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หอยเชอรี่ซึ่งเป็นศัตรูของต้นข้าวและชาวนา ก็ยังพอมีคุณอยู่บ้าง ด้วยโปรตีน กว่า 34-53 เปอร์เซ็นต์ และสารอาหารอีกจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น ก้อยหอยเชอรี่ เสียบไม้ย่าง(จี่หอย) ตำใส่ส้มตำ ฯลฯ  แต่ต้องทำให้สุกก่อนรับประทานเสมอ เพื่อทำลายเชื้อโรค หรือพยาธิ ซึ่งอาจปะปนอยู่ในหอยเชอรี่ เสียก่อน

ปัจจุบันพบว่าหอยเชอรี่ต้มสุก มีราคาดี ในแต่ละพื้นที่ก็รับซื้อในราคาที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็สร้างรายได้เสริมให้กับชาวนา ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ข่าวจังหวัดสกลนคร  

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

อภิชาติ ชาไชย

อภิชาติ ชาไชย

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสกลนคร อีเมล [email protected]