X
ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย

ตำนาน!!ผ้าย้อมครามกลุ่ม “ดอนกอย” ของดี 5 ดาว เมืองสกล

ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย  “เกรดพรีเมี่ยม” ความเป็นมาจากเหตุบังเอิญของยายดำเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน  สู่ธุรกิจการค้านับร้อยล้านบาท/ปี

จังหวัดสกลนครถือว่าเป็นเมืองแห่งครามและมีกลุ่มผ้าย้อมครามที่มีคุณภาพกระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเงินหมุนเวียนในจังหวัดหลายร้อยล้านบาท/ปี วันนี้ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสกลนครจะนำ ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อ.พรรณานิคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มทีมีความเป็นมานับ 100 ปี  เป็นต้นกำเนิดผ้าย้อมครามจากธรรมชาติมานำเสนอ

กลุ่มผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ตั้งอยู่เลขที่ 58 หมู่ที่ 2 บ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนิคม จังหวัดสกลนคร เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2546  จากสมาชิกเพียง 9 คน  โดยแรกเริ่ม มีการย้อมผ้าครามแล้วนำมาทอเป็นผืนตัดเย็บเพื่อสวมใส่เท่านั้น  มีคุณแม่ถวิล อุปรี เป็นประธานกลุ่ม

ต่อมามีการตั้งกลุ่มกันขึ้นเพื่อจำหน่าย ทั้งเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ก่อนที่จะพัฒนาให้มีความสวยงาม มีการมัดหมี่เหมือนกับผ้าไหมและตัดเป็นชุด   กลุ่มได้จดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP เมื่อปี 2549  และได้รับการคัดสรรเป็นสินค้า ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดสกลนคร  ข้อสำคัญของผ้าย้อมครามคือใช้วัสดุธรรมชาติ   ไม่มีสารเคมี สีไม่ตก ลวดลายสวยงาม การผลิตก็ใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ใบคราม ขี้เถ้า และเปลือกไม้ คนในชุมชนส่วนใหญ่ มีอาชีพและรายได้จากการทอผ้าคราม เป็นอาชีพเสริมหลังการทำนา   โดยมีการสืบทอดการผลิตผ้าย้อมครามจากรุ่นสู่รุ่น

คุณถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย

การทอผ้าครามกลุ่มดอนกอย มีประวัติความเป็นมาดังนี้  ความเป็นมาของหม้อนิล(หม้อสำหรับย้อมสีคราม)   ชาวดอนกอยเล่าว่าเดิมเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน  โดยตาสีนวลกับยายดำได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านดอนกอย ออกไปทำนา ทำไร่ในป่า วันหนึ่งยายดำนั่งพักเหนื่อยร่มไม้ในป่าก็เคี้ยวหมากไปด้วย สังเกตเห็นแมลงชนิดหนึ่งชาวบ้านเรียกแมงขาขง มีลักษณะเป็นสีนำเงิน กำลังกัดกินใบไม้อยู่

ยายดำสังเกตเห็นมีน้ำซึมคล้ายยางไม้ออกมาตรงที่แมลงกัด ด้วยความบังเอิญยายดำบ้วนน้ำหมากไปโดนน้ำยางที่ค้างอยู่ตามใบไม้ที่ร่วงตามพื้นดิน พอน้ำหมากโดนกับยางไม้ น้ำหมากก็กลายเป็นสีคราม พอลองอีกก็เป็นเหมือนเดิม เห็นแปลกดีจึงนำต้นไม้ชนิดนั้นกลับไปบ้านด้วย

ต้นคราม

พอลองเอาไปแช่น้ำปรากฏว่าน้ำกลายเป็นสีเขียว ยิ่งแช่นานก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ยายดำก็ลองเอาปูนลงไปผสม แล้วเอามือกวนให้เข้ากันปรากฏว่าเป็นสีคราม และติดมือขึ้นมาด้วยก็เลยลองเอาฝ้ายมาลองจุ่มดู ฝ้ายก็เป็นสีคราม แต่พอโดนน้ำสีกลับจางหายไป ยายดำก็คิดหาวิธีให้สีครามติดกับผ้าฝ้ายตลอดไป

โดยการทดลองเอาเปลือกไม้ชนิดต่างๆ มาต้มเพื่อเอาน้ำ แล้วนำมาผสมน้ำขี้เถ้า (เรียกว่าน้ำดั่ง) มาใส่ลงไปในหม้อเดียวกัน กวนให้เข้ากันแล้วก็เอาฝ้ายลงแช่ ปรากฏว่าสีครามจะอยู่ติดกับผ้าไม่จางหาย โดนน้ำก็ไม่จาง   จึงเรียกหม้อที่ก่อว่า “หม้อนิล”   และต้นไม้ดังกล่าวว่า “ต้นคราม”

หม้อนิล

หลายปีต่อมายายดำได้ลูกสะใภ้คนหนึ่งชื่อว่านางพิม  แต่ยายดำก็ไม่ชอบสะใภ้คนนี้นักวันหนึ่งนางพิมนั่งต่ำหูก(ทอผ้า) อยู่เห็นนกอีแอ่นบินเป็นฝูงอยู่บนท้องฟ้า สังเกตเห็นเหมือนลายผ้าที่ตนเองกำลังทออยู่จึงตั้งลายผ้าซิ่นที่กำลังทอว่า“ลายนกอีแอ่น” พอทอเสร็จก็เอาไปให้ยายดำยายดำเห็นแล้วก็ถูกใจลายนี้มาก หลังจากนั้นก็ทำให้ยายดำเริ่มเอ็นดูนางพิมผู้เป็นสะใภ้ ต่อมาเมื่อนางพิมอายุมากขึ้นก็ได้กำชับลูกหลานให้อนุรักษ์ลายผ้านี้ไว้เพราะเป็นอนุสรณ์ที่นางพิมทำให้ยายดำผู้เป็นแม่ย่ารักตนขึ้นมาได้ ซึ่งลูกหลานก็ยังอนุรักษ์ไว้ และเปลี่ยนชื่อเป็น “ลายนกนางแอ่น”

ตัวอย่างลายผ้าแบบต่างๆ

จวบจนปัจจุบัน เพื่อเป็นการสืบสาน และอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ลูกหลานบ้านดอนกอยยังคงมีการทอผ้าใช้กันอยู่   และปรับเปลี่ยนจากการทอใช้กันในครัวเรือน ก็มีการรวมกลุ่มกัน   มีการลงหุ้น ออมเงิน โดยจัดตั้งกลุ่มเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2546   โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพรรณนานิคม สำนักงานเกษตรอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบลสว่าง ให้การสนับสนุน  และได้รับงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ริมฝั่งลำน้ำอูน บ้านดอนกอย มีลักษณะเป็นผา มีดินโคลนสีแดงอยู่เป็นจำนวนมาก  ในอดีตชาวบ้านจะนำผ้าขาวไปย้อมกับโคลนเพื่อถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ผามอดินแดง” ซึ่งอำเภอพรรณนานิคมจะมีที่บ้านดอนกอยแห่งเดียว

เอกลักษณ์/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ผ้าคราม  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทอด้วยมือ ทำจากผ้าฝ้าย กรรมวิธีการผลิตใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ มีสมุนไพรในตัว เป็นการย้อมเย็น สวมใส่สบาย ได้หลายโอกาส ผ้าครามจะมีสีสัน และกลิ่นเฉพาะ ถือเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดสกลนคร  ผ้าย้อมคราม มีเสนห์ในตัวเอง ในฤดูร้อนใส่แล้วจะเย็นสบาย ฤดูหนาวใส่แล้วจะอบอุ่น

นับเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานานนับร้อยปี ไม่น่าเชื่อว่าบรรพบุรุษในอดีต จะคิดค้นผ้าย้อมครามขึ้นมาให้คนรุ่นหลังได้สืบทอด ผ้าคราม เป็นผ้าย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถป้องกันรังสี UV และมีคุณสมบัติทางสมุนไพร ต้นคราม เป็นพืชล้มลุกตระกูลถั่ว สายพันธุ์หลักในภาคอีสาน คือ Indigofera Tinclria การย้อมสีจากครามเป็นการย้อมเย็นที่อาศัยกระบวนการหมัก สีธรรมชาติที่ได้จากการย้อมเย็นเช่นนี้ มีเพียง 2 ชนิดในโลกเท่านั้น

ซึ่งสีสันและเส้นใยที่ได้ จะมีความคงทนสูงกว่าการย้อมที่ใช้ความร้อน นอกจากนี้ ลักษณะเด่นคือ สีไม่ตกติดทนนาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และยังป้องกันแสง UV ได้  สำหรับการพัฒนาลวดลาย ขณะนี้  อาทิ ผ้าลายหมี่สี่ตะกอ, ผ้าพื้นสี่ตะกอ, ผ้าลายหมี่สองตะกอ, ผ้าพื้นสองตะกอ, ผ้าคลุมไหล่ซีกวาง, ผ้าคลุมไหล่สี่ตะกอ, ผ้าเอนกประสงค์, ผ้าพันคอสี่ตะกอ,ผ้าพันคอเล็ก, ผ้าเช็ดหน้า, กระเป๋าเล็ก, กระเป๋ากลาง, กระเป๋าย่าม, รองเท้าผ้าคราม,  ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงมาจาก หมี่ครามน้ำหนึ่ง ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ข่าวจังหวัดสกลนคร <<คลิก

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

อภิชาติ ชาไชย

อภิชาติ ชาไชย

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสกลนคร อีเมล [email protected]