X
หนองหาร

ม.ราชภัฏสกลนคร ชวนเที่ยว หนองหาร สัมผัสธรรมชาติ อารยธรรม และวิถีชีวิต

จ.สกลนคร เป็นเมืองแห่ง 3 ธรรม ประกอบด้วย ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ศูนย์หนองหารศึกษา สถาบันภาษาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จึงนำเอาจุดเด่นทางด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และวัฒนธรรมในชุมชนรอบ หนองหาร จ.สกลนคร มาพัฒนาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับยุทธศาสตร์รัฐบาลที่กำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองอยู่ในขณะนี้

ดร.สพสันต์ เพชรคำ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เปิดเผยว่า หนองหาร เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ มีพื้นที่  77,016 ไร่ รองรับน้ำจากเทือกเขาภูพาน ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ทางลำน้ำก่ำ

หนองหารสกลนคร

นอกจากนี้ในปูมเมืองสกลนครยังได้กล่าวไว้ว่า หนองหารเกิดจากฤทธิ์ของพญานาคเป็นผู้กระทำให้แผ่นดินเมืองหนองหารหลวงยุบถล่มลงเป็นผืนน้ำ โดยหนองหารมีความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยเกาะดอนต่างๆ กว่า 50 เกาะดอน อาทิเช่น ดอนสวรรค์ ดอนหัน ดอนผลาญ ดอนไซพอ ดอนหวาย ฯ

เกาะดอนสวรรค์ เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหนองหาร

หนองหารมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของผู้คนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน ดังพบหลักฐานทางโบราณคดีอันบ่งบอกถึงความเก่าแก่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังพบว่าการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชนรอบหนองหารเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย  คือความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างสยามกับลาว และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่มีมาแต่เดิม

ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้หนองหารจึงมีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต โดยรอบหนองหารมีการตั้งชุมชนต่างๆ ประกอบอาชีพหาปลา เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตร มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรม มีความสุขสงบร่มเย็นสืบมา หนองหารมีแหล่งธรรมชาติและชุมชนที่มีความสำคัญ

ศาสนสถานบนเกาะดอนสวรรค์

จึงได้จัดทำเป็นแผนที่การเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำในอาณาบริเวณหนองหาร เส้นทาง 2 ท่า 1 ซ่ง 1 ดอน  สัมผัสความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม แหล่งโบราณคดีในพื้นที่ชุมชนรอบหนองหาร โดยนักท่องเที่ยวสามารถลงเรือหนองหารที่สระพังทอง แล้วไปต่อที่ บ.ท่าวัด ต.เหล่าปอแดง อ.เมือง จ.สกลนคร

บ.ท่าวัด เป็นชุมชนตั้งอยู่ริมหนองหารทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ทับซ้อนกับชุมชนโบราณยุคสมัยต่างๆ ดังปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีที่พิพิธภัณฑ์วัดกลางศรีเชียงใหม่ ประเภทภาชนะ เครื่องปั้นดินเผา ใบเสมาสมัยทราวดี ร่องรอยของศาสนาสถาน อันเก่าแก่และจารึกหินทราย ในการสร้างวัดเพื่ออุทิศถวายพระมหากษัตริย์ในสมัยล้านช้างที่ตรงกับชื่อนามเมืองในอดีต

วัดมหาพรหมโพธิราช

มีกลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดี และพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุ ที่ชาวบ้านขุดพบในบริเวณหมู่บ้าน และใกล้กันที่วัดมหาพรหมโพธิราช มีการขุดพบพระพุทธรูปหินทรายศิลปะทวารวดีสภาพสมบูรณ์ที่หาดูได้ยาก

แปลงเกษตรลอยน้ำ

อีกหนึ่งเส้นทางเมื่อนั่งเรือออกไปที่ บ.น้ำพุ ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร จะมีแปลงเกษตรลอยน้ำ เกิดจากการทดลองแก้ไขปัญหาการสะสมของวัชพืชในหนองหารของชาวบ้านน้ำพุ โดยการนำเอาวัชพืชที่ทับถมกันเป็นเกาะลอยมาใช้เป็นแปลงเกษตรแล้วปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษสามารถลงไปยืนได้ นับเป็นอีกหนึ่งวิถีของชาวบ้านที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านการเกษตร

อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่

และอีกเส้นทางเมื่อนั่งเรือไปที่ บ.ท่าแร่ ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งตั้งอยู่ทิศเหนือของหนองหาร เป็นชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2427 โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ ซาเวียน์ เกโก ได้อพยพครอบครัวชาวคริสต์จากเมืองสกลนครข้ามหนองหารมาตั้งหลักแหล่งใหม่ทางฝั่งทิศเหนือ

ดร.สพสันติ์ เพชรคำ
ดร.สพสันติ์ เพชรคำ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ในอดีตบริเวณหมู่บ้านเต็มไปด้วยป่าไม้มีหินลูกรังภาษาท้องถิ่นเรียกว่า หินแฮ่ จนต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อบ้านท่าเเฮ่หรือท่าแร่ในปัจจุบัน โดยมีหลักฐานที่ปรากฎ คือบ้านโบราณโคโลเนียลสไตล์ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมผสานกับรูปแบบของช่างพื้นถิ่น

บ้านโบราณโคโลเนียลสไตล์

มีอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ เป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกิจกรรมต่างๆ เช่น พิธีบูชามิสซา พิธีรับศีล แต่งงานเป็นต้น และหากถึงวันคริสต์มาสก็จะมีประเพณีแห่ดาว ทั้งแห่ดาวมือถือ และรถแห่ดาว ที่ขึ้นชื่อของชาว ต.ท่าแร่ ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ

รถแห่ดาว ต.ท่าแร่

จากนั้นเดินทางอีกด้วยเรือมุ่งหน้าไปที่เกาะดอนสวรรค์ อ.เมือง จ.สกลนคร โดยดอนสวรรค์เป็นดอนขนาดที่ใหญ่ ตั้งอยู่กลางหนองหารบนพื้นที่ดอนประกอบด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อาทิ ยางนา สะแก ข่อย มะเดื่อ พืชสมุนไพร มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่หลากหลาย

ต้นยางนาขนาดใหญ่ บนเกาะดอนสวรรค์

โดยชุมชนรอบหนองหารได้ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำการประมงและแหล่งเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดอนสวรรค์ รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติของคนสกลนคร มีต้นยางนาขนาด 4-5 คนโอบ หลายต้น  มีควายน้ำหนองหารที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงแบบปล่อยในพื้นที่ดอนสวรรค์ซึ่งมีมากกว่า 300 ตัว

กระบือน้ำหนองหาร

ดร.สพสันต์ เพชรคำ กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาหนองหารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศูนย์หนองหารศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการงบประมาณต่อจังหวัดสกลนคร เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยว ให้มาท่องเที่ยวจังหวัดสกลนคร อันจะเป็นการนำรายได้เข้าสู่จังหวัดและเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยและต่างประเทศ

ให้รู้ถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวของจังหวัดสกลนคร  ซึ่งนอกจากจะมากราบไหว้วัดวาอารามต่างๆ ในจังหวัดสกลนครแล้วยังจะได้สัมผัสธรรมชาติที่งดงาม และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในหนองหาร  พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

>>>ข่าวจังหวัดสกลนคร

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

อภิชาติ ชาไชย

อภิชาติ ชาไชย

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสกลนคร อีเมล [email protected]