X

สหกรณ์โคนมทั่วประเทศ ลุกฮือ พบนายกรัฐมนตรี ถูกแทรกแซงนมโรงเรียน

 

นครปฐม : กลุ่มสหกรณ์โคนม ทั่วประเทศ กว่า 500 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์  กรณีกลุ่มสหกรณ์โคนมภาคกลางทั้ง 14 สหกรณ์ ถูกแทรกแซงนมโรงเรียนอย่างไม่เป็นธรรม ผิดหลักการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ถูกลดปริมาณนม กว่า 120 ตันต่อวัน และสูญเสียรายได้ กว่า 800 ล้านบาทต่อปี

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสหกรณ์โคนมกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม (ประธานที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย) พร้อมด้วยนายสุบิน ป้อมโอชา ประธานสหกรณ์โคนมหนองโพ จำกัด (ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย) นายวินนา ศรีสงคราม ประธานสหกรณ์โคนมสอยดาว จำกัด และนายสัตวแพทย์ วัชรินทร์ เอกประเสริฐ ตัวแทนจากสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก พร้อมด้วยคณะกรรมการสหกรณ์โคนมภาคกลาง ทั้ง 14 สหกรณ์ กว่า 40 คน ร่วมกันประชุมหารือ กรณีถูกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เข้าแทรกแซงโครงการนมโรงเรียน ทำให้สหกรณ์โคนมภาคกลาง ทั้ง 14 สหกรณ์ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต่างก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสหกรณ์โคนมกำแพงแสน และ นายสุบิน ป้อมโอชา ประธานสหกรณ์โคนมหนองโพ กล่าวว่า อ้างถึงประกาศคณะกรรมการ อาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงาน โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนประจำปีการศึกษา 2562 ลงวันที่ 19 เมษายน 2562 โดยในประกาศฉบับดังกล่าว ข้อ 6.1 ได้กำหนดให้ ในกรณีรับน้ำนมโคจากศูนย์รวบรวมน้ำนมโค ให้แนบสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม กับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและ/หรือหนังสือรับรองการใช้นมโค

ในการพิจารณาจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์นมของคณะอนุกรรมการ ขับเคลื่อนโครงการอาหารนม เพื่อเด็กและเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ กลุ่มที่ 5 ปรากฏข้อเท็จจริง ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตามข้อ 6.1 ของประกาศฉบับดังกล่าวข้างต้น และไม่เป็นไปตามหลักการ ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ อาทิเช่น ในรายของผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์นมในรายของสหกรณ์โคนมท่าม่วง จำกัด ไม่มีการทำสัญญา ซื้อขายนมกับสหกรณ์โคนมหริภุญชัย จำนวน 4 ตัน สหกรณ์โคนมสันกำแพง (ป่าตึงห้วยหม้อ) จำกัด จำนวน 10 ตัน สหกรณ์โคนมแม่ออน จำกัด จำนวน 6 ตัน และสหกรณ์โคนมแม่ทา จำกัด จำนวน 10 ตัน

และทั้งหมดยังเป็นการซื้อขายนมจากโซนพื้นที่ภาคเหนือ มาขายยังโซนพื้นที่ภาคตะวันตก ซึ่งขัดต่อนโยบายด้านโลจิสติกส์ อย่างชัดเจน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม และเป็นไปตามประกาศ ประกาศคณะกรรมการอาหารนม เพื่อเด็กและเยาวชนเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงาน โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2562 จึงขอความอนุเคราะห์ให้ผู้มีอำนาจได้ทบทวนการจัดสรรสิทธิการจำหน่าย นมโรงเรียนภาคเรียนที่ 2/2561 ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนม เพื่อเด็กและเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ 5 ต่อไป

โดยมีข้อเรียกร้อง คือ 1. การนำน้ำนมดิบจากภาคเหนือมารับรองผู้ประกอบการภาคใต้ที่ระยะทางไป – กลับ 3,000 กิโลเมตร ไม่เหมาะสมมีความผิดปกติ มำให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้รับผลกระทบ 2.MOU ของ อ.ส.ค.มีผลบังคับถึง วันที่ 30 ก.ย.62 ไม่ควรอนุญาตเอาไปรับรองให้ผู้ประกอบการอื่น ทำให้สหกรณ์ต่าง ๆ เดือดร้อน 3. ผู้ประกอบการบางรายมีน้ำนมดิบเป็นของตัวเอง แต่เอาไปรับรองให้ผู้ประกอบการรายอื่น ส่วนตัวเองไปซื้อน้ำนมดิบจากภาคเหนือมารับรองตัวเอง มีความผิดปกติอย่างมาก ลักษณะทำเป็นขบวนการ

แนวทางออกก็คือ ให้ตัดสิทธิ์น้ำนม ข้อ 1 ออกให้ใช้นมภาคเดียวกันก่อน แล้วถ้าน้ำนมดิบไม่เพียงพอให้ใช้น้ำนมดิบในภาคที่ใกล้เคียง และ 2.ให้ อ.ส.ค.เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และตรวจสอบความผิดปกติในข้อ 3 กล่าวคือผู้ประกอบการบางรายมีน้ำนมดิบเป็นของตัวเอง แต่เอาไปรับรองให้ผู้ประกอบการรายอื่น ส่วนตัวเองไปซื้อน้ำนมดิบจากภาคเหนือมารับรองตัวเอง มีความผิดปกติอย่างมากลักษณะทำเป็นขบวนการ

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีมติ ให้ตัวแทนสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ ทั้ง14 สหกรณ์ กว่า 500 คน นัดรวมตัวกันเพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจาก นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันนี้ (14 พ.ค.62) เนื่องจากสหกรณ์โคนมภาคกลางทั้ง 14 สหกรณ์ ทั่วประเทศ รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากคิดเป็นปริมาณน้ำนมดิบที่ถูกรัฐวิสาหกิจเข้ามาแทรกแซง สูงถึงวันละ 120 ตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 800 กว่าล้านบาท/ปี  ตัวแทนสหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ จึงได้เดินทางไปร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว.

พิสิษฐ์  ปานวณิชยกิจ – ขนิษฐา ชื่นยินดี / ภาพ-ข่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน