X

อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยตกที่กระบี่ อาการอ่อนแรงไม่กินอาหารเจ้าหน้าที่เพาะพันธุ์สัตว์ป่าพังงา เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด

พังงา-อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยตกที่กระบี่ อาการอ่อนแรงไม่กินอาหารเจ้าหน้าที่เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด

วันที่ 9 มกราคม 2562 ที่สถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าจังหวัดพังงา ต.ตากแดด อ.เมืองพังงา เจ้าหน้าที่ได้เข้าดูอาการของอีแร้งสีน้ำตาล หิมาลัยมีขนาดปีกกว้างประมาณกว่า 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 30-40 กก.ซึ่งคาดว่าน่าจะอพยพหนีหนาวมาเป็นฝูงและบินจนอ่อนแรงเลยพลัดตกหลงฝูง หลังจากถูกพายุปาบึกพัดตกภายในสวนยางพาราของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่จะส่งมาให้สถานีเพาะพันธุ์สัตว์จังหวัดพังงา นำเข้าอนุบาลและดูแลรักษาอาการอ่อนแรง โดยทางเจ้าหน้าที่ได้นำให้อยู่ในกรงขนาดใหญ่ พร้อมให้อาหารเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติ พร้อมให้วิตามินผสมกับน้ำในช่วงแรกเพื่อเพิ่มแคลเซียมแต่พบว่าอีแร้งตัวดังกล่าวยังมีอาการอ่อนแรงไม่ค่อยรับประทานอาหารที่ทางเจ้าหน้าที่จัดให้ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดชุดหมุนเวียนดูอาการอย่างใกล้ชิด

นายธีธัช ดำอุดม หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา เปิดเผยว่า ทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ได้รับตัวแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยตัวเต็มวัย มาจากเจ้าหน้าที่ในจังหวัดกระบี่ หลังจากนกแร้งได้อพยพหนีหนาวมาเป็นฝูงและบินจนอ่อนแรงเลยพลัดตกหลงฝูง โดยทางเจ้าหน้าที่สัตว์ป่าจังหวัดพังงา ได้ทำการรักษาอาการที่อ่อนแรงให้มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง และจะนำนกแร้งมอบให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกําแพงแสน เพื่อนำไปฝึกให้แข็งแรงพร้อมฝึกบินก่อนที่จะนำไปปล่อยคืนกลับถิ่น แต่คาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาสักระยะกว่านกแร้งตัวดังกล่าวจะแข็งแรงซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้ยาบำรุงไปก่อนเพื่อให้แข็งแรงฟื้นตัวต่อไป

สำหรับแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยจัดเป็นแร้งหรืออีแร้งที่มีขนาดใหญ่รองมาจากแร้งดำหิมาลัยที่สามารถพบได้แถบเทือกเขาหิมาลัย จะกระจายพันธุ์อยู่ตามแถบเทือกเขาของภูมิภาคเอเชียกลางไปจนถึงจีนและไซบีเรีย โดยปกติจะอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 600-2,500 เมตร เวลาบินหากินจะบินไปจนถึงระดับ 4,500 เมตร หรือสูงกว่านี้ จะหากินเพียงลำพังหรือพบเป็นฝูงเล็ก ๆ เพียง 2-3 ตัว โดยจะหากินตามช่องเขาหรือทางเดินบนเขา หรือบินตามฝูงสัตว์เพื่อรอกินซากของสัตว์ที่ตาย ส่วนหัวและลำคอมีขนอุยสีขาว ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนมีลายขีดสีขาว ลำตัวสีน้ำตาลออกเหลืองหรือสีกากีอ่อน ใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อนกว่าด้านหลัง ก้านขนแต่ละเส้นจะมีลักษณะเป็นสีขาวเด่นออกมาจากพื้นสีลำตัว เมื่อยังเล็ก นกวัยอ่อนจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีลายสีขาวบนก้านขนอย่างเห็นได้ชัดเจนกว่านกวัยโต มีขนปีกและขนหางสีดำ ขนหางมีทั้งหมด 14 เส้น มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 110 เซนติเมตร ปีกเมื่อกางออกยาวได้ถึงเกือบ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 8-12 กิโลกรัม มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน รังมีขนาดใหญ่โดยทำจากเศษกิ่งไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ทำรังบนหน้าผาสูง ทำรังเดี่ยวหรือรวมกันเป็นหลายรังประมาณ 5 – 6 รังในที่เดียวกัน ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟอง แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยไม่ใช่นกประจำประเทศไทย แต่เป็นนกอพยพที่ฤดูหนาวจะบินลงใต้มาอาศัยอยู่ยังประเทศไทยเพราะมีอากาศที่อบอุ่นกว่า สถานะอนุรักษ์ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

อโนทัย งานดี

อโนทัย งานดี

นักข่าวตัวเล็กๆในเมืองแห่งความสุข