X

สส.มด ประธานกรรมาธิการการเกษตรฯ ร่วมลงแขกน่ำไร่ อนุรักษ์ข้าวไร่ดอกข่าพังงา

พังงา-ประธานกรรมาธิการการเกษตรฯ ร่วมลงแขกน่ำไร่ อนุรักษ์ข้าวไร่ดอกข่า สร้างแหล่งเรียนรู้แบบพอเพียงยึดหลักศาสตร์พระราชา

ที่แปลงเรียนรู้การปลูกข้าวไร่ดอกข่า (ไร่แสงตะวันซาฟารี) ม.2 ต.ท่าอยู่ อ.ตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา   นางกันตวรรณ ตันเถียร (กุลจรรยาวิวัฒน์) ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา พร้อมด้วยนายประคอง อุสาห์มัน เกษตรจังหวัดพังงา นายณรงค์   แสงคง กำนันตำบลท่าอยู่ นำส่วนราชการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เจ้าหน้าที่ คณะครู และนักเรียน  ร่วมลงแขกปลูกข้าวไร่ดอกข่าแบบวิธีโบราณ ในโครงการ “ชาวท่าอยู่ร้อยใจ  น่ำไร่ ข้าวดอกข่า” พืชอัตลักษณ์จังหวัดพังงา เพื่อส่งเสริมและขยายพื้นที่ปลูกข้าวไร่ดอกข่าในจังหวัดพังงา

นางกันตวรรณ ตันเถียร กล่าวว่า ข้าวไร่ดอกข่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมและภาคแรงงานต้องตกงานเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องใช้ต้องกินก็คืออาหาร แต่ถือเป็นความโชคดีที่จังหวัดพังงามีความอุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำและดิน จึงทำให้ยังคงพอดำรงชีพได้ เมื่อย้อนกลับมาที่ การปลูกข่าวไร่ดอกข่าของจังหวัดพังงา ในอดีตนั้นเกษตรกรจะปลูกแซมในสวนยางพาราหรือสวนปาล์มน้ำมันที่เริ่มปลุกใหม่ในระยะ1-3ปี แต่เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป พี่น้องเกษตรกรก้ไม่ค่อยปลูกข้าวไร่กัน กระทั่งยุคโควิด-19 หลายภาคส่วนได้หันกลับมามองเรื่องเกษตรยั่งยืน ต้องมีการปลูกพืชทางเลือกเสริมเข้าไปในสวนยางหรือสวนปาล์มซึ่งจะสอดคล้องกับรัฐบาลที่ส่งเสริม ซึ่งคณะกรรมาธิการได้มีการศึกษาเรื่องสวนยางและปาล์มหรือเกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชชนิดอื่นเสริมเข้าไป ซึ่งเกษตรกรรมยั่งยืน จะสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคโควิดได้อย่างไร เช่น หากเกษตรกรเข้าสวนก็จะพบผัก หากลงทะเลก็จะได้ปลา เพื่อมาปรุงเป็นอาหาร ซึ่งการปลูกข้าวไร่ดอกข่า หรือพืชผสมผสาน ในแปลงก็จะทำให้พี่น้องสามารถลดต้นทุนในการใช้ชีวิตประจำวันได้มาก ลดต้นทุนทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาของรัชกาลที่9

นายประคอง อุสาห์มัน กล่าวว่า การ”น่ำไร่”เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของพี่น้องชาวใต้ คือการนำไม้ปลายแหลมกระทุ้งลงไปในดินให้เป็นหลุมขนาดความลึกประมาณ 2 นิ้ว เรียกว่า “แทงสัก” และทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บรรจุอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ลงไปในหลุมประมาณ 4-5 เมล็ดแล้วใช้ท้ายกระบอกกดดินกลบ รอจนต้นข้าวแทงกล้าขึ้นมา หมั่นคอยกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ใช้เวลาประมาณ 120 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ โดยการจัดกิจกรรมในวันนี้ถือเป็นการขยายพื้นที่ที่ใช้สร้างแหล่งอาหารให้กระจายออกไปยังทุกอำเภอ พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้วีถีพอเพียงให้กับนักเรียน เกษตรกร และประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย

สำหรับข้าวดอกข่า หรือ ข้าวไร่ดอกข่า เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองคุณภาพดีที่มีชื่อเสียงของ จ.พังงา ได้รับเครื่องหมายจีไอ เมื่อต้นปีนี้ เป็นพันธุ์ดั้งเดิมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของชาวจังหวัดพังงา ลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรค เมล็ดยาว เมล็ดข้าวสารสีน้ำตาลแดงอมม่วง สามารถปลูกในไร่และบริเวณที่สูงตามไหล่เขาที่ไม่มีน้ำขัง อาศัยเพียงแค่น้ำค้าง น้ำฝน และความชื้นในดินก็ทำให้เจริญเติบโตได้ ลักษณะทั่วไป เป็นข้าวไร่ข้าวเจ้าที่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 332-400 กิโลกรัมต่อไร่ นิยมปลูกที่ ต.บางทอง อ.ท้ายเหมือง และ ต.ตากแดด อ.เมือง จ.พังงา เก็บเกี่ยวพฤศจิกายน-ธันวาคม เมื่อนำมาหุงสุกแล้วจะขึ้นหม้อ มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย ข้าวไม่แข็ง วิธีนึ่งหรือหุงให้อร่อย คือ ข้าว 1 ส่วน ต่อน้ำ 1-1.2 ส่วน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

อโนทัย งานดี

อโนทัย งานดี

นักข่าวตัวเล็กๆในเมืองแห่งความสุข