X

ขอนแก่นเปิดตัว”ไทยอิสานสปา” ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร

สธ.ต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมมาสู่ “ไทยอิสานสปา” ในการดูแลสุขภาพ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นำร่องในขอนแก่น ก่อนเผยแพร่เป็นเอกลักษณ์ประจำภาค

ภาพจากฮูปแต้ม หรือ รูปแต้ม ซึ่งปรากฏบนผนังโบสถ์ตามวัดในภาคอิสานปรากฏเรื่องราวของการบำบัดรักษาด้วยการนวด การจับเส้น หรือ การประคบตามวิถีพื้นบ้าน  ประกอบกับกระแสการรณรงค์ค้นหาอัตลักษณ์ท้องถิ่นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้บุคลากรจากสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 7 ขอนแก่น และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นร่วมกันค้นคว้าองค์ความรู้ท้องถิ่นที่สามารถนำมาต่อยอดให้บริการในสถานประกอบกิจการสปาเพื่อสุขภาพ ในชื่อของ “ไทยอิสานสปา” ได้ดีไม่แพ้ที่ใด

ด้วยความร่วมมือของชมรมสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจังหวัดขอนแก่นได้เผยแพร่ภูมิปัญญาสปาแบบอิสานที่ตอบสนองการให้บริการสปาได้ครบ 5 ด้าน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส เริ่มตั้งแต่ “รูป” ด้วยการนำวัฒนธรรมอิสานมาตกแต่งสถานที่ เช่น การก่อสร้างอาคารเลียนแบบเรือนไทยภาคอิสาน หลังคาทรงจั่ว มีเล้าข้าวหรือที่เก็บรักษาข้าวเปลือกประจำบ้าน นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการตกแต่งภายในสถานที่ด้วยผ้าทอลายอิสาน พาน เชี่ยนหมาก เครื่องจักสาน หรือ เครื่องใช้พื้นบ้าน ตลอดจนการตกแต่งผนังด้วยลวดลายของฮูปแต้มหรือลายขิด

ต่อมาคือ “รส” แน่นอนว่า ภาคอิสานร่ำรวยด้วยสมุนไพรท้องถิ่นที่สามารถนำมาปรุงเครื่องดื่มสมุนไพร เช่น มะลิ พิกุล สารภี บัวหลวง บุนนาค ช่วยชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย

ส่วนเรื่องของ “กลิ่น” มีการนำดอกสเลเต หรือ ดอกมหาหงส์  ซึ่งเป็นดอกไม้พื้นบ้านที่ชาวอิสานนิยมนำมาใช้ทัดผมเมื่อจะไปทำบุญที่วัด มีกลิ่นหอมละมุน นำมาสกัดกลิ่นหอมใช้ในสถานประกอบการเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปา เช่น ครีม หรือน้ำมันนวด

และที่สำคัญไม่น้อยคือ “เสียง” แม้ว่าจังหวะดนตรีอิสานส่วนใหญ่เน้นความสนุกสนานรื่นเริง แต่บางเพลงหรือเครื่องดนตรีบางชนิด เช่น โหวด ปี่ไสล หรือ พิณ สามารถบรรเลงเพลงขับกล่อมที่ก่อให้เกิดอารมณ์สงบและผ่อนคลายได้

และสุดท้ายคือ “สัมผัส” จากการศึกษาการนวดที่เป็นเอกลักษณ์ของหมอนวดพื้นบ้านในอิสาน พบการนวดที่เรียกว่า “ขิดเส้น” เป็นการนวดแบบกดแล้วตวัดนิ้ว หัวแม่มือขึ้นไปด้านข้าง ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายจากความตึงตัว ช่วยให้รู้สึกสบาย หายปวด สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสปาได้อย่างดี

นายสุโรจน์ แพงมา เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และ ที่ปรึกษาชมรมสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากเดิมที่ภูมิปัญญาสปาเป็นสิ่งที่เรารับมาจากทางตะวันตก แต่เมื่อเรามาพิจารณาศาสตร์การให้บริการในสปาทั้ง 5 ด้าน เรากลับพบว่า ภาคอิสานเรามีทรัพยากรที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าในสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพได้มากมาย ทั้งแรงงานที่มาเป็นพนักงาน เทอราพิสผู้ให้ บริการ หรือสมุนไพรต่างๆ ที่นำมาปรุงเป็นชาสมุนไพร หรือลูกประคบ แต่ยังไม่เคยมีใครค้นคว้าหรือนำภูมิปัญญาเหล่านี้มาใช้ในสปาอย่างเต็มที่ ถ้าถามว่า เราจะแข่งกับคนอื่นได้ไหม ตอบเลยว่าเราไม่เหมือนใครอยู่แล้ว ในระดับสากลเราแข่งได้แน่นอน ในส่วนของประเทศเรา ตอนนี้ก็มีเพียงสปาแบบภาคเหนือ “ล้านนาสปา” และ “ไทยอิสาน สปา” ของอิสานที่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ในส่วนของขอนแก่น เราพบว่าธุรกิจนี้มีการเติบโตในระดับหนึ่ง เมื่อสัก 3-4 ปีก่อน สปาในขอนแก่นมีแค่ 2-3 แห่ง แต่ปัจจุบันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10 แห่ง และในอนาคตผมมองว่า ทั้งสปาและร้านที่ให้ บริการนวดมีโอกาสจะเติบโตมากขึ้นไปอีก เพราะขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ขณะนี้ทางชมรมฯ ได้ประสานงานกับผู้ประกอบการสปาในจังหวัดอื่นๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไทยอิสานสปาให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ด้านนางรสธร ตราชู ไชยะกุล ผู้จัดการเซนต์สปา ต้นแบบนำร่องไทยอิสาน สปา กล่าวว่า อยากให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในอิสานได้มีประสบการณ์การนวดแบบท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ได้สัมผัสกลิ่นอายความเป็นอิสานครบทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทางร้านจึงได้นำการนวดแบบขิดเส้นมาให้บริการ เรียกว่า signature Esan massage ซึ่งถือเป็นทรีตเมนต์เด่นของทางร้าน พบว่า ลูกค้าให้ความสนใจไม่น้อยสามารถดึงดูดให้มีผู้เข้ามาใช้บริการได้มากพอสมควรเพราะมีความแตกต่างจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ หรือ คนต่างพื้นที่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น