X
เรือนจำขอนแก่น

เรือนจำขอนแก่นเปิดตัววงหมอลำ “ออนซอนอีสาน” อย่างยิ่งใหญ่

ขอนแก่น – เรือนจำกลางขอนแก่นเปิดวงหมอลำออนซอนอีสาน รอบพิเศษ หลังผู้ต้องขังผ่านการเรียนตามหลักสูตรระยะสั้น พร้อมโชว์พิเศษแสง สี เสียงอลังการ

นายกิตติพัฒน์ เดชะพหุล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นายสมมาตร สุราช ผู้บัญชาการเรือนจำกลางขอนแก่น นายพนมกร พจนา ผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขังเรือนจำกลางขอนแก่น ร่วมพิธีมอบใบประกาศนียบัตร และร่วมชมการแสดงผลงานโครงการเรือนจำส่งเสริมผู้ต้องขังที่มีความสามารถพิเศษประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ศาลาอเนกประสงค์ แดน 1 เรือนจำกลางขอนแก่น ซึ่งเรือนจำกลางขอนแก่นได้ยกให้เป็นเรือนจำเฉพาะทางด้านการแสดงศิลปะวัฒนธรรมอีสาน (หมอลำ)

โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากร ครูอาจารย์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ฝึกสอน และศิลปินแห่งชาติ อาทิ ดร.ฉวีวรรณ ดำเนิน  นายฉลาด ส่งเสริม (ป.ฉลาดน้อย) นำประกอบพิธีไหว้ครูบาอาจารย์ ครูศิลป์ ครูเทพให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นการแสดงความเคารพต่อครูบาอาจารย์ฯ ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้กำหนดให้เรือนจำกลางขอนแก่น เป็นเรือนจำส่งเสริมผู้ต้องขังที่มีความสามารถพิเศษ ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562  ทางเรือนจำฯ ได้จัดทำโครงการเรือนจำส่งเสริมผู้ต้องขังที่มีความสามารถพิเศษ ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเภทศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสานวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ  และได้จัดฝึกอบรมผู้ต้องขังทั้งชายและหญิง ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น จำนวน  5  หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรดนตรี การประพันธ์เพลง เรียบเรียงเสียงประสาน และเทคโนโลยีดนตรี   หลักสูตรนาฏศิลป์และการเต้นประกอบเพลง  หลักสูตรขับร้องและหมอลำ  หลักสูตรการแต่งหน้าและทำผมนักแสดง  หลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับนักแสดง  โดยมีผู้ต้องขังผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวกว่า 217 คน

“เราจะมีเรือนจำเฉพาะทางหลายประเภท เช่น เรือนจำ จ.ขอนแก่น ก็เป็นเรือนจำเฉพาะทางด้านการแสดง เรือนจำ จ.มหาสารคาม ก็เป็นเรือนจำด้านการศึกษา ถ้าจะเรียนปริญญาโทก็ต้องไปที่นี่  เรือนจำ จ.ขอนแก่นมีชื่อเสียงโดดเด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งสาเหตุที่มาได้ขนาดนี้ก็เพราะได้รับความร่วมมือจากปราชญ์ท้องถิ่น จากสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้การแสดงได้รับการยกระดับมาตรฐานขึ้น ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ”  นายกิตติพัฒน์ กล่าว

จากนั้นเป็นการแสดงของผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรม โดยการแสดงนี้ได้เน้นในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมอีสานเต็มรูปแบบ ทั้งร้อง เล่น การแสดง ทั้งรูปแบบลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน ลำเต้ย รวมทั้งผญาอีสาน ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผู้ต้องขังก็ได้แสดงออกอย่างเต็มที่  ทั้งนี้ภายหลังพ้นโทษ ผู้ต้องขังสามารถนำไปต่อยอดและเป็นวิชาชีพติดตัวในอนาคตได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น