X

มข.จัดเสวนา ดูออเจ้าอย่างไรให้สนุก?  เพิ่มอรรถรสในการดูละครเชิงประวัติศาสตร์

ขอนแก่น – สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดเสวนา “ทำอย่างไรให้ดูออเจ้าได้สนุกขึ้น : การะเกดเชื่อมอยุธยากับปัจจุบัน” เพื่อให้ผู้ชมละคร “บุพเพสันนิวาส” ดูได้ลึกกว่าละครโทรทัศน์ พร้อมกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติ

ปัจจุบันสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อการกระตุ้นการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครโทรทัศน์เรื่อง ”บุพเพสันนิวาส” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงนี้ การเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือองค์ความรู้ต่างๆ ที่แฝงอยู่ในละครเรื่องนี้ จะส่งผลต่อการกระตุ้นการเรียนรู้ของนักศึกษาและผู้สนใจ เป็นการสร้างบรรยากาศการอ่านและการค้นคว้า ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ของการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ  สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงจัดเสวนาในหัวข้อ “ทำอย่างไรให้ดูออเจ้าได้สนุกขึ้น : การะเกดเชื่อมอยุธยากับปัจจุบัน”  โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านร่วมพูดคุยประเด็นต่างๆที่น่าสนใจ

อ.ดร.จิราธร ชาติศิริ อาจารย์สาขาอาณาบริเวณศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พูดคุย “ประเด็นด้านการค้ากับต่างประเทศและวิถีชีวิตในสมัยอยุธยา” กล่าวว่า “เรื่องนี้ทำให้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์อยุธยามากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยกลยุทธ์การเล่าเรื่องที่ค่อนข้างดี มีการให้นางเอกย้อนยุคกลับไป เราจะมองภาพอยุธยาผ่านสายตาของคนปัจจุบัน  เพราะนางเอกเป็นคนยุคเดียวกับเรา  เราจะเรียนรู้ไปพร้อมนางเอก  ซึ่งทำให้ภาพของอยุธยาดูน่าประหลาดใจ มีความตื่นตาตื่นใจสำหรับแม่การะเกดเท่าๆ กับเรา สิ่งที่การะเกดตั้งคำถามก็เป็นสิ่งที่เราอยากรู้เช่นกัน  เพราะในพงศาวดาร หรือจดหมายเหตุต่างๆ จะบันทึกแต่สิ่งที่เป็นข้อมูลอย่างเดียว โดยไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง”

สิ่งที่เราได้เรียนรู้เรื่องของ “อยุธยา” จากเรื่องนี้คือ

  1. เป็นชุมชนนานาชาติ มีคนหลากหลายเชื้อชาติ เช่น ฝรั่งเศส ฮอลันดา โปรตุเกส กรีก ญี่ปุ่น ฯ ส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อค้าขาย มาอยู่แค่ระยะหนึ่ง และอีกส่วนเข้ามาตั้งรกรากในอยุธยา ดังจะเห็นว่ามีชุมชนชาวต่างชาติหลายเชื้อชาติ
  2. เป็นชุมชนศูนย์กลางทางการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นได้จากมีคนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาค้าขายกับอยุธยา
  3. เป็นชุมชนทางน้ำ จะเห็นหลายฉากในละครที่มีการสัญจรทางเรือ

ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พูดคุยในหัวข้อ “จีนในประวัติศาสตร์อยุธยา” กล่าวว่า  “เราจะเห็นอิทธิพลจากจีนอยู่ทั่วไปในฉากละคร เช่น ของประดับบ้าน ผ้าม่าน  เพราะอยุธยามีความเป็นนานาชาติสูงมาก หลายชาติพยายามเข้ามาค้าขายด้วย แต่พบว่า จีนเป็นชาติแรกๆ ที่เข้ามาค้าขายกับอยุธยา ดังจะเห็นได้จากข้อมูลกาลานุกรม หรือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลา (timeline)

– การค้าระหว่างอยุธยากับจีน  เริ่มต้นในยุคราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1821-1911)

– พ.ศ. 1913 ความสัมพันธ์ หมิง กับ อยุธยา เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ (พระราเมศวร)

– พ.ศ. 1952-1953 กองเรือเจิ้งเหอ มาที่อยุธยา (พระนครินทร์ราชาธิราช)  ยุคนี้การค้าระหว่างอยุธยากับจีนเฟื่องฟูมาก

– พ.ศ. 2041  โปรตุเกส ข้ามเข้ามามหาสมุทรอินเดีย (จีนยกเลิกกองเรือเจิ้งเหอ ทำให้จีนเริ่มห่างติดต่อกับอยุธยา  เริ่มมีอิทธิพลจากชาติตะวันตกเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

– พ.ศ. 2055  โปรตุเกส เป็นชาติแรกที่เข้ามาค้าขายกับอยุธยา (และส่งผลให้ชาติตะวันตกอื่นๆ ตามเข้ามาในอยุธยา)

– พ.ศ. 2147  ฮอลันดา เข้ามาค้าขายกับอยุธยา (สมเด็จพระนเรศวร)  แต่ต่อมากลายเป็นชาติที่เข้ามาค้าขายกับอยุธยามากที่สุด

– พ.ศ. 2177  ความสัมพันธ์กับ หมิง กับ อยุธยา สิ้นสุดลง (พระเจ้าทรงธรรม)

– พ.ศ. 2196  ความสัมพันธ์กับ ชิง กับอยุธยา เริ่มต้นขึ้น (พระเจ้าปราสาททอง)                  และเป็นไปอย่างแนบแน่นในสมัยพระเจ้าท้ายสระ  ต่อมาเมื่อสิ้นยุคสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ซึ่งไม่โปรดชาติฝรั่ง  ทำให้การค้ากับจีนกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

– พ.ศ. 2300  ราชทูตชุดสุดท้ายของอยุธยาไปปักกิ่ง  (ช่วงเวลา 10 ปี ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่ออย่างเป็นทางการกับจีนอีกเลย)

คุณคมกริช ฤทธิ์ขจร เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ จังหวัดชัยภูมิ แลกเปลี่ยนในประเด็นด้านเครื่องแต่งกาย การแบ่งยศศักดิ์ และการนุ่งห่ม

“สมัยอยุธยามีความรุ่งเรืองในหลายด้าน  มีการค้าขายจากหลากหลายชาติ  สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ ลายผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เราได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ  ไม่ว่าจะเป็นจีน เขมร หรืออินเดีย เช่น ผ้าลายประแจจีน  ส่วนใหญ่แพรพรรณจากต่างชาติจะนำมาสวมใส่ในราชสำนักก่อนจะแพร่หลายไปในหมู่ชนชั้นสูง ขุนนาง หรือผู้มีฐานะ

ในส่วนของขุนนางเอง ลวดลายแพรพรรณจากต่างชาติยังเป็นสิ่งบ่งบอกยศของขุนนางผู้นั้น คือ ผ้าซัมปอต หรือ ผ้าโฮล ซึ่งเป็นอิทธิพลที่รับมาจากเขมร ซึ่งเขมรก็รับมาจากอินเดียอีกที ดังตัวอย่างที่เห็นในหุ่น ผ้าซัมปอตจะทอด้วยดิ้นเงิน มีลวดลายเฉพาะตัว ลายของขุนนางระดับ สูงจะมีลวดลายแบบหนึ่ง ส่วนขุนนางที่มียศรองลงมาจะใช้ลายที่ต่างกันไป เช่น ในฉากละครที่ต้อนรับทูตต่างชาติจะเห็นภาพขุนนางทั้งหลายต่างสวมใส่ผ้าซัมปอต

ในส่วนตัวละครผู้หญิงในครอบครัวขุนขนางจะเห็นการใส่สไบที่เป็นผ้าแพรจีน ซึ่งมีความนิ่ม ลื่น บาง จึงสวมสองชั้นคือ สไบกรองใช้ผ้าแพรบาง และสไบตาดเป็นสไบหลักที่สวมอยู่ข้างใน หรือแม้แต่นางเอกการะเกดซึ่งมีเชื้อสายมาจากเมืองสองแควก็จะห่มสไบต่างจากตัวละครหญิงคนอื่น เพราะจะห่มแบบคนล้านนา ด้วยการรัดอกและห่มสไบทับ แต่ไม่นุ่งซิ่นแบบคนล้านนา แต่นุ่งหน้านางทิ้งชายพกแบบคนอยุธยา ก็ถือเป็นการแต่งตัวตามแฟชั่นในสภาพพื้นที่นั้นๆ”

ขอบคุณภาพ : ช่อง 3

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น