X

เปิดวิสัยทัศน์ รองอธิการบดี ม.ราชมงคลอิสานกับการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่

ในโอกาสครบรอบการก่อตั้งสถาบันครบ 54 ปี ม.ราชมงคลอิสานฯ วิทยาเขตขอนแก่น เตรียมประกาศจุดยืนใหม่ สู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างและพัฒนาอาชีพเฉพาะทาง” 

12-16 มีนาคมที่จะถึงนี้  จะมีการจัดงานวัตกรรมและเทคโนโลยี ไทย-เยอรมัน ขอนแก่น ประจำปี 2561 หรือ INNO TECH TGTK FAIR 2018  เพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการและนวัตกรรมทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอิสาน วิทยาเขตขอนแก่น  ซึ่งเป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านมายาวนานถึง 54 ปี

ปีนี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่มีการปรับเปลี่ยนจุดยืนของมหาวิทยาลัย  เพื่อให้ตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  ตอบสนองต่อการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น  ตลอดจนการสร้างคน    รุ่นใหม่สำหรับศตวรรษหน้า  ทีมงาน 77ข่าวเด็ดได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.วิชยุทธ จันทะรี  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอิสาน ประจำวิทยาเขตขอนแก่น  ถึงก้าวสำคัญครั้งนี้    ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาสถาบันการศึกษาในระดับอาชีวะและเทคนิคทั่วประเทศ

ากจุดเริ่มของสถาบันฝึกสอนช่างฝีมือ                                                                ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2507 มีสถาบันการศึกษา 2 แห่งถือกำเนิดขึ้นพร้อมกันในจังหวัดขอนแก่น คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอิสาน วิทยาเขตขอนแก่น  เดิมชื่อ “วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น”  โดยบุคคลทั่วไปนิยมเรียกว่า “เทคนิคไทย–เยอรมัน ขอนแก่น”

ก่อตั้งโดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน  จัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมการศึกษาทางด้านช่างฝีมือในภาคอิสานให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน  โดยเลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นที่ตั้ง ในปี 2507 ได้เปิดรับสมัครและสอบคัดเลือกนักศึกษารุ่นแรกในด้านครูช่าง  วุฒิ ปวช. ปวส.และ ครูฝึกวิชาชีพด้านช่างอุตสาหกรรม

วันที่ 14 มีนาคม 2509  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดวิทยาลัยฯ และทรงปลูกต้นประดู่ไว้เป็นที่ระลึก  ด้วยเหตุนี้จึงได้ถือเอาวันที่ 14 มีนาคมของทุกปี  เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสืบมาจนทุกวันนี้

ปี 2518 มี พรบ.วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะศึกษา  ม.เทคโนโลยีราชมงคลฯ ได้แยกตัวออกมา เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “เทคโนไทย-เยอรมัน”

ปี 2531  ได้รับพระราชทานนามใหม่เป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตขอนแก่น”  การจัดการเรียนการสอนของเยอรมันลดลงไป  หลักสูตรมีความเป็นสากล ความเป็นเฉพาะทางน้อยลง

ปี 2548 ได้เปลี่ยนจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น”  จัดการเรียนการสอนคล้ายกับมหาวิทยาลัยทั่วไป

ยุคคิดใหม่ ทำใหม่                                                                                         ระยะเวลาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง  ทําให้ตระหนักว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ ผลิตบัณฑิตไม่ตรงตามความต้องการตลาดแรงงานของประเทศ  ซึ่งต้องการคนที่มีทักษะฝีมือเฉพาะเจาะจงมากขึ้น  จึงนํามาสู่การพัฒนาระบบการผลิตนักวิชาชีพและครูฝึกนักวิชาชีพ  ปี 2561 ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ประกาศตัวเป็น  “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างและพัฒนาอาชีพเฉพาะทาง” ผลิตคนออกไปเพื่อเป็นผู้ประกอบการ

“กระบวนการคิดของเราต้องดูก่อนว่า เรามี ม.ขอนแก่นอยู่แล้ว เราต้องช่วยกันผลักดันให้ ม.ขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ตั้งอยู่ที่ จ.ขอนแก่น  ผลิตคนเพื่อให้เป็นนักนวัตกรรม เป็นนักวิจัย เป็น  กลุ่มที่มีความเป็น academic เราวางแผนร่วมกันให้ ม.ขอนแก่น ทำงานวิจัยขั้นสูง มี application ต่างๆ ออกมาสู่สังคม ส่วน ม.ราชมงคลอิสานฯ จะสร้าง application user เหล่านั้น  เป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง  ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ basic skill labor จะให้ทางสถาบันอาชีวะและสถาบันเทคนิคต่างๆ ดูแล  เราทำงานกันแบบไม่ทับซ้อนแต่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์  ถือเป็นจุดแข็งของ จ.ขอนแก่น ที่มีการพูดคุยในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจน”

เมื่อตั้งหลักได้แล้วว่า จะผลิตนักวิชาชีพ  ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ย้อนกลับไปพิจารณารากเหง้าที่เป็นจุดแข็งของตนคือ การสร้างนักวิชาชีพตามมาตรฐานเยอรมัน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั่วโลก ก่อนจะนำมากำหนดเป็นพันกิจของมหาวิทยาลัยใน 4 ด้านประกอบด้วย

  1. ผลิตนักวิชาชีพเชี่ยวชาญสูงมาตรฐานสากล
  2. ผลิตครูฝึกนักวิชาชีพเชี่ยวชาญสูงมาตรฐานสากล
  3. ผลิตบุคลากรสอดคล้องกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยในการสร้างนักวิชาชีพเฉพาะทาง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด และสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ
  4. ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับศตวรรษที่ 21 มีระเบียบวินัย น้ำใจ และฝีมือ

ที่สำคัญการทำงานจากนี้จะไม่โดดเดี่ยวเพราะทำงานร่วมกันเป็นไตรภาคีทั้ง 3 ภาคส่วนประกอบด้วย “หน่วยผลิตบุคลากร”  คือสถาบันการศึกษาต่างๆ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ทำหน้าที่ผลิตคน  “หน่วยกำหนดคุณสมบัติ” เช่น แรงงานจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรม หอการค้าฯ จะเป็นผู้ให้ข้อมูลว่า ควรผลิตบุคลากรในสาขาใด จำนวนเท่าไร และ “หน่วยที่ใช้งานบุคลากร”  คือผู้ประกอบการ  หากสถานประกอบการต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพก็จะต้องมาร่วมลงทุนในการผลิตบุคลากรด้วย

“จากนี้ไปงานของเราจะเป็นการผลิต “บัณฑิตนักวิชาชีพ”  ซึ่งตัวชี้วัดมีข้อเดียวคือ เขาสามารถมีภูมิคุ้มกันเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่  หลังจากผู้ปกครองมอบตัวเด็กปี 1 ให้เราแล้ว  เขาไม่ต้องมายุ่งอีก  เด็กจะต้องหาเงินส่งตัวเองเรียน  วิธีนี้จะทำให้เด็กจะต้องมีทักษะอย่างน้อย 5 ด้านคือ ทักษะด้านวิชาชีพ  ทักษะการประมาณราคา  ทักษะการเจรจาต่อรอง  ทักษะการบริหารเวลา  และทักษะความรับผิดชอบ  ซึ่งทั้ง 5 ทักษะนี้จะทำให้เด็กของเรามีวุฒิภาวะ

ซึ่งตอนนี้เราเริ่มเดินหน้าแล้ว เช่น การให้ทุน ต่อไปนี้ไม่มีทุนแบบให้เปล่าแต่เด็กจะต้องมาทำงาน  เป็นผู้ช่วยวิจัยอาจารย์ หรือ กยศ. มีงบมาให้ เราก็เอามาจ้างเด็กทำงาน  เราเชื่อว่าการฝึกเด็กแบบนี้จะทำให้เขามีวุฒิภาวะและสามารถดูแลตัวเองได้หลังจากจบไป   ต่อมาคือ เด็กของเราจะมีทักษะข้ามศาสตร์  เป็น multi skill ขอบเขตในเรื่องการเป็นคณะจะน้อยลง เด็กจะทำงานร่วมกันมากขึ้น มีจิตสาธารณะมากขึ้น  ต่อไปนี้เด็กเทคนิค ไทย-เยอรมัน จะเรียนน้อยลง แต่จะมีการปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้น ปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของเราคือ ถ้าเมื่อไรที่เด็กของเราส่งตัวเองเรียนได้ครบ 100% นั่นคือ เราถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว”

หลักสูตรใหม่ถอดด้าม                                                                                        โดยสรุปการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฯ ในรูปแบบใหม่ที่วางไว้จะมีหลักสูตร 3 ด้าน ประกอบด้วย Logistics”  เช่น  เรื่องระบบราง  ระบบอากาศยาน   “Tourism” เน้นการท่องเที่ยวแบบ incentive tourism ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาจังหวัดในด้าน MICE city  และ “Services”  การบริการอุตสาหกรรมในต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษาตั้งแต่เรื่องการบริหาร เทคโนโลยี จนถึงการตลาด เช่น เทคโนโลยีการเพิ่มผลลิต

“การเรียนการสอนจะเปลี่ยนหน้าตาจาก program-based learning มาเป็น product-based learning  เช่น การเป็น smart farmer ไม่ได้อิงความรู้เชิงเกษตรเป็นหลัก  แต่เป็นเรื่องที่ใช้ความรู้ทางวิศวกรรมเข้ามาทำงานในฟาร์มในหลายๆ ด้าน

นอกจากการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนด้วย สรุปสั้นๆ คือหลักสูตรจะเปลี่ยนจากที่เป็นใบงาน การสอนเชิงวิชา 15 สัปดาห์ เราพยายามให้จบเป็นเรื่องๆ ส่วนวิชาทั่วไปที่เป็น general education จะปรับลดลง เด็กสามารถเรียนได้เองจาก khan academy หรือ youtube เพื่อประหยัดเวลา แต่เขาจะมีช่วงเวลาการปฏิบัติมากขึ้น เราจะไม่มีห้องสมุด แต่จะมี academic complex ห้องปฎิบัติการก็จะเป็น central lab คาดว่า ในระยะเวลาประมาณ 3 ปีนับจากนี้จะเริ่มเห็นภาพทั้งหมด”

ฝันให้ไกลไปให้ถึงจุดหมาย                                                                               สำหรับวิธีการขับเคลื่อนไปให้ถึงจุดนั้น  ผศ.วิชยุทธ ยอมรับว่า น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้  โดยพยายามคิดนอกกรอบในเรื่องงบประมาณ  เน้นการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในรูปแบบของประชารัฐ  โดยมีกลไกขับเคลื่อนประกอบด้วย

สิ่งแรกKKC Tink Tank”  คลังสมองราชมงคลขอนแก่น  ประกอบด้วย ศิษย์เก่าที่จบออกไปเป็นเจ้าของกิจการจำนวนมากจะดึงคนกลุ่มนี้กลับมานำความรู้มาสอนรุ่นน้อง  บางคนมาช่วยปรับปรุงห้องแล็บให้ใหม่ หรือ กลุ่มอาจารย์อาวุโส  แม้จะเกษียณไปแล้ว แต่บางคนยังมีแรง มีความรู้ ก็กลับมาช่วยงาน  รวมถึงเครือข่ายกลุ่มอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย

สิ่งที่สองคือการเปิด วิทยาลัยไทยไมสเตอร์ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 คุณวุฒิ Meister คือ ปริญญาตรีด้านปฏิบัติของเยอรมัน เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในสิ่งนั้นจริงๆ

นิยามคำว่า นักศึกษาจะเปลี่ยนไป จะเน้นรับคนที่อยู่ในสถานประกอบการซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่และมีจำนวนมากกว่านักศึกษาที่มาจากระบบการเรียนในสายสามัญ แต่ไม่เคยได้รับการ retrain

ทางมหาวิทยาลัยจะเน้นรับคนกลุ่มนี้เข้ามาศึกษาแบบทวิภาคี  ด้วยการประสานกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นผู้คัดเลือกสถานประกอบการไว้ นักศึกษาจะเข้าไปสมัครงานกับสถานประกอบการนั้นและมีสถานะเป็นพนักงานเข้าไปทำงานเต็มเวลา  ใน 1 ปีจะอยู่ในสถานประกอบการ 10 เดือน ส่วนอีก 2 เดือนจะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยฯ  เพื่อเติมเต็มความรู้ในการทำงาน

“ส่วนนี้เป็นหลักสูตร tailor made ที่สถานประกอบการจะประสานกับมหาวิทยาลัยว่าอยากให้สอนอะไร  สอนเฉพาะสิ่งที่จะนำไปใช้  สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า การปฏิรูประบบการสอนนักวิชาชีพของประเทศ ขณะนี้มีสถานประกอบการที่จะลง MOU กับทางมหาวิทยาลัยแล้วประมาณ 200 แห่ง   ต่อไปจังหวัดขอนแก่นจะผลิตแรงงานได้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ  ไม่มีสาขาไหนขาดหรือล้น

ทุกวันนี้เราจะได้ยินว่า บริษัทใหญ่ๆ เขาจะตั้งโรงเรียนเอง เช่น ร.ร.ปัญญาภิวัฒน์ ปูนซีเมนต์ไทย มิตรผล หรือ บริษัท ช.ทวี เราบอกเลยว่า ภารกิจที่จะทำ training center แบบนี้ยกมาให้เรา เรามาทำร่วมกัน เราจึงถือโอกาสเอาวันที่ 14 มีนาคมซึ่งเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยของเรา ประกาศเรื่องนี้ให้สังคมได้รับทราบ”

ภารกิจวิทยาลัยไทยไมสเตอร์                                                                                 1.กำหนดหลักสูตรไมสเตอร์  ทางสถาบันฯ เป็นคนสอน และมีมหาวิทยาลัยอาเค่นแห่งเยอรมันเป็นผู้รับรอง   หลักสูตรประมาณ 8 เดือน

2.จัด short course training  ยกระดับคนในสถานประกอบการ  โดยการประสานกับสถานประกอบการจัดหลักสูตร tailored made course

3.สร้างคุณลักษณะบุคลากรให้มีการทำงานแบบเยอรมัน  สร้างคนที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ดี มีความเข้มแข็ง สามารถนำพากิจการงานของตนเองไปได้  เช่น หลักสูตรทักษะความเป็นผู้นำ  หลักสูตร train the trainer

“กล่าวได้ว่า การปฏิรูปของสถาบันฯ เราในครั้งนี้จะสร้างผลกระทบที่ใหญ่มาก  สามารถนำวิธีการที่เราทำที่นี่  ไปติดตั้งในสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั่วประเทศ  และวิธีนี้จะทำให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยนักวิชาชีพ” ผศ.วิชยุทธ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น