X
อุตสาหกรรมการบิน

จับตา “อุตสาหกรรมการบิน” อุตสาหกรรมน้องใหม่ที่มีอนาคตสดใส

คาดเป็นไปได้สูง จากหลายปัจจัยหนุนขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการซ่อม-สร้าง-ขนส่ง อากาศยาน  เผยบริษัทผลิตเครื่องบินต่างชาติแห่เข้าเจรจา   

นอกเหนือจากการได้รับอนุมัติจัดตั้งโครงการท่าเรือบกที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งช่วยให้ขอนแก่นกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์การขนส่งของภาคอิสานแล้ว  โครงการอุตสาหกรรมระบบราง ร้อยแก่นสารสินธุ์ railway innopolis ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ทางจังหวัดหมายมั่นปั้นมือที่จะช่วยยกระดับความเจริญในพื้นที่และของกลุ่มจังหวัดด้วยกัน  แต่ในช่วงเวลาไม่ใกล้ไม่ไกลนี้จะมีอุตสาหกรรมน้องใหม่ที่ทางจังหวัดกำลังให้ความสนใจว่าจะมีอนาคตที่สดใสไม่แพ้กันทีมข่าว 77kaoded ได้พูดคุยกับคุณทรงศักดิ์ ทองไทย  ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น ถึงทิศทางของอุตสาหกรรมที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ขอนแก่น

Q : ที่มาของอุตสาหกรรมน้องใหม่ที่น่าจะมีอนาคต

แต่ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเอง GPP มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักไม่ใช่ภาคเกษตร สภาอุตสากรรม จ.ขอนแก่น ก็เลยมองว่า นอกจากที่เราจะสนับสนุนเรื่องของ ร้อยแก่นสารสินธุ์ railway innopolis แล้ว  เราน่าจะมองและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในเรื่องของ aviation ธุรกิจการบินให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น  โดยอาจจะทำในรูปของศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน และโรงเรียนการบิน

ซึ่งจุดนี้จะมีบริษัทการบินขนาดกลางและขนาดเล็กให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนหลายราย  รวมถึงรายใหญ่ เช่น บริษัทโบอิ้ง ตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะตั้งศูนย์ซ่อมสร้างที่ไหนในเมืองไทย ซึ่งรัฐบาลเองก็ส่งเสริมให้ลงที่อู่ตะเภา แต่ทางสภาอุตสากรรมฯ ก็มองว่าในพื้นที่เราเองก็มีศักยภาพพอสามารถแบ่งเบาภาระความหนาแน่นของอากาศยานที่สุวรรณภูมิ รวมถึงอู่ตะเภา มาลงที่ขอนแก่นได้ เพราะขอนแก่นเองก็เป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องของคาร์โก้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะต้องเตรียมการเพื่อจะเป็นศูนย์ขนส่งทางอากาศไปด้วย

Q : ความเหมาะสมกับการตั้งในพื้นที่ภาคอิสาน

เหตุผลคือเรายังมีพื้นที่ว่างอีกมาก  และหลังจากที่เราได้ท่าเรือบกมา ซึ่งก็ทำให้นักลงทุนมีความสะดวกสบายในการนำเข้าและส่งออก  และอีกส่วนหนึ่งก็คือเรามีนักวิชาชีพหรือแรงงาน  เป็นนักวิชาชีพชั้นสูงทางด้านช่างซ่อมอากาศยานซึ่งเรามีการผลิตอยู่แล้ว  ปัจจุบันนี้เรามีวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่นที่อำเภอชนบทที่ผลิตช่างซ่อมอากาศยาน ปีหนึ่ง 28 คน ปีหน้าก็จะเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นระดับ ปวช. และ ปวส.  และในระดับปริญญาตรีก็มีภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ผลิตวิศวกรระดับปริญญาตรี  รวมทั้งที่ มทร.ขอนแก่น ก็กำลังจะเปิดสอนเช่นกัน คือถ้าเรามีอุตสาหกรรมในด้านนี้ในภาคของการศึกษาก็ต้องเปิดสอนสาขาวิชาทางด้านนี้โดยต่อยอดจากวิทยาลัยการอาชีพ  เพื่อผลิตคนร่วมกับบริษัทต่างๆ ที่มาลงทุนในพื้นที่  โดยที่เราจะไม่ผลิตเกินแต่จะผลิตตามความต้องการของผู้ประกอบการ

อุตสาหกรรมการบิน

Q : การสร้างงานในพื้นที่

ถ้ามีการตั้งอุตสาหกรรมการบินเหล่านี้จะต้องการคนเพื่อเข้าไปสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้มากน้อยเพียงใด  คือมันมีซัพพลายเชนที่เราต้องมอง ไม่ใช่ว่าเครื่องบินหนึ่งลำใช้ช่างซ่อมไม่กี่ราย แต่เครื่องบินหนึ่งลำจะมีเครื่องวัดเยอะมาก ซึ่งจะกระจายการผลิตไปในแต่ละด้าน แต่ละด้านก็จะต้องมีช่างเฉพาะด้านนั้นๆ  นอกจากนี้เรื่องของคนก็จะเกิดการพัฒนาจะมีโรงเรียนการบินเกิดขึ้น ด้านช่างด้านวิศวกรก็จะตามมา  ซึ่งสายการผลิตค่อนข้างยาว และไม่ได้มีเฉพาะเรื่องเครื่องบินอย่างเดียว โดรน และเฮลิคอปเตอร์ ก็รวมอยู่ในโหมดนี้ด้วย ก็จะครบวงจร  เราคาดว่าท่าเรือบกที่เกิดขึ้นอย่างน้อยก็จะมีตำแหน่งงานไม่น้อยกว่า 10,000 ตำแหน่ง  ส่วนโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินเหล่านี้ก็อาจจะอยู่แถวแถวท่าเรือบก คิดว่าน่าจะมีแรงงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมนี้หลายหมื่นตำแหน่ง

Q : ความสนใจของผู้ประกอบการอากาศยานในปัจจุบัน

ตอนนี้มีบริษัทที่เกี่ยวกับการผลิตเครื่องบินจากทั้งเกาหลี ไต้หวัน และจีน ที่ให้ความสนใจอยากจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ขอนแก่น  นอกจากจะเป็นการซ่อมแล้วก็จะผลิตด้วย เพราะปัจจุบันนี้เครื่องยนต์ของเครื่องบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้ส่งมาซ่อมที่ระยอง และชิ้นส่วนต่างๆ ก็ผลิตในประเทศอยู่แล้ว  หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ชิ้นส่วนของเครื่องบินแอร์บัสประมาณ 40% ผลิตขึ้นในประเทศไทย และผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้หลายรายก็เป็นคนขอนแก่นทั้งนั้น  เป็นศิษย์เก่า มทร. ที่ไปตั้งบริษัทอยู่ที่โน่นก็มาก

ถ้าหากว่าเรามีการส่งเสริมอุตสาหกรรมในด้านนี้  ทางสภาอุตสากรรมฯ ก็คาดว่ามันน่าจะเป็นอุตสาหกรรม new s-curve อีกหนึ่งตัว  ที่จะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และต่อยอดเทคโนโลยีให้คนของเราได้ด้วย  ขณะนี้มีการทาบทามและเจรจากันแล้ว  ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง

Q : จุดเด่นและข้อจำกัดของพื้นที่

ในส่วนข้อจำกัดของจังหวัดขอนแก่นในขณะนี้ก็คือ เราค่อนข้างตั้งอยู่ตอนในของภาคห่างจากชายทะเล และสองคือเรื่องของการใช้ท่าอากาศยาน  พื้นที่ของเราไม่ได้เตรียมการไว้สำหรับรองรับเรื่องการซ่อม  แต่จะสามารถขยายได้ไหม หรือจะไปใช้สนามบินที่น้ำพองจะได้ไหม  อันนี้ก็ต้องมีการพูดคุยกันเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากเราได้ท่าเรือบกมาแล้วจึงมีสิ่งเหล่านี้ตามมา

โดยศักยภาพของพื้นที่ของขอนแก่นสามารถรองรับเป็นจุดซ่อมสร้างอากาศยานเหล่านี้ แล้วสามารถผลิตชิ้นส่วนที่นี่แล้วจะพัฒนาไปสู่การสร้าง อันดับแรกที่เห็นชัดเจนคือเรื่องของการซ่อม คือผู้ประกอบการขายเครื่องบินออกไปและมีที่สำหรับให้ซ่อมด้วย เขาก็จะสามารถขายเครื่องบินให้ ได้ทั้งไทยและประเทศในละแวกนี้ ไปถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะว่าที่ตั้งเราอยู่ในจุดศูนย์กลาง  คล้ายกับศูนย์บริการรถยนต์

ถ้ามองดูละแวกเพื่อนบ้านเราจะพบว่า ประเทศเหล่านี้เขาจะมีอากาศยานขนาดกลางกันถึงเล็กกันเยอะมาก เช่นในลาวก็จะใช้เครื่องบินขนาดไม่เกิน 50 ที่นั่งกันมาก ทางเวียดนามเองก็ใช้มากเช่นเดียวกับในพม่าเองในอนาคตหากเปิดก็จะเป็นเครื่องบินขนาดกลางถึงเล็กเช่นกัน ซึ่งทุกประเทศก็สามารถนำมาซ่อมที่ขอนแก่นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น